Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๔. ไปชายแดนตาก : ๑. อำเภอท่าสองยาง ๑๑ ก.ค. ๕๗

พิมพ์ PDF
ไปเรียนรู้ฝึกฝน altruistic brain

ตอนที่ ๐

สาวน้อย (ร้อยชั่ง) ถามว่า ไปหลงเสน่ห์อะไรของอาจารย์แหวว ถึงยอมหอบกระเป๋าทิ้งเมียในวันหยุดยาว (๑๑ - ๑๓ ก.ค. ๕๗) ไปชายแดนจังหวัดตากกับอาจารย์แหวว

ผมตอบว่า หลงเสน่ห์นักกฎหมายรับใช้คนรวย ที่ผันตัวเองมารับใช้คนจนและคนด้อยโอกาส ผมอธิบายให้เธอฟังว่า ผมใช้อาจารย์แหววเป็นครูสอนวิชา altruism โดยผมมีสมมติฐานว่า คนแบบนี้มี altruistic brain ที่มีคุณภาพสูงมาก มีพลังรุนแรง ถึงขนาดว่าเมื่อ altruistic emotion ระเบิดขึ้นแล้ว ช้างสารก็ฉุดไม่อยู่ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า impulsive behavior

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า วงการศึกษาไทยจะมีวิธีการกระตุ้นสมองส่วน altruistic brain อย่างไร แล้วติดตามเรียนรู้ จากอาจารย์แหวว

จริงๆ แล้วอาจารย์แหววชวนผมไปเรียนรู้การทำงานเรื่องคนไร้สถานะ ตามตะเข็บชายแดนที่คณะของท่านดำเนินการอยู่ เป็นการทำงานจริง พร้อมกับทำงานวิจัยไปด้วย ลูกศิษย์ของอาจารย์แหววจึงได้เรียนกฎหมายแบบลงมือทำ (Activity-Based Learning) ที่เป็นการทำเรื่องจริง หรือทำงาน การเรียนนี้ จึงเป็น authentic learning สำหรับลูกศิษย์ของอาจารย์แหวว ส่วนผมเป็น “ลูกศิษย์ของลูกศิษย์” คือตามไปดูห่างๆ โดยมีกำหนดการดังนี้ ซึ่งเป็นกำหนดการที่ปรับได้    ดังนั้น ในบางช่วงจึงไม่ได้เป็นตามนี้   ทีมอาจารย์แหววอยู่ทำงานรวม ๗ วัน ใน ๔ อำเภอ   ส่วนคุณเปากับผมและอีกหลายคน ร่วมเรียนรู้ ๓ วัน ใน ๓ อำเภอ คือท่าสองยาง พบพระ และแม่ระมาด

เมื่อลงจากเครื่องบินนกแอร์ที่สนามบินนานาชาติแม่สอดเวลา ๑๑ น. ผมก็ตกใจ   เพราะทีมที่ไปมีจำนวนมากกว่าที่คิด และยังมีทีมของจังหวัดตากมารับที่สนามบิน และร่วมเดินทางไปด้วย นำโดย นพ. พูนลาภฉันทวิจิตรวงศ์ (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด), นพ. ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ (หมอหนึ่ง) ผอ. รพ. ท่าสองยาง, สาธารณสุขอำเภอท่าสองยาง, และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่เป็นบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคล ๒ คน คือคุณชนินทร์ (จ่อซุหะ) กับคุณยาว (เบียะอ่อ)

คณะของเราเป็นคณะใหญ่ จำนวนกว่า ๔๐ คน นั่งรถตู้ ๕ คัน เป็นขบวน ไปตามถนน ๑๐๕ นำโดยรถตำรวจ ที่ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ   เส้นทางถนนส่วนใหญ่เลียบแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างพม่ากับไทย จึงเดาได้ว่า ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่ต้องระมัดระวัง ในเรื่องชายแดน

เรานั่งรถไปตามถนนที่คดเคี้ยว เพราะเป็นถนนเลียบภูเขา รวมทั้งฝนตกพรำเกือบตลอดทาง กว่าจะไปถึง สถานพักพิงบ้านแม่ทัศนีย์ (คีรีประณีต) เป้าหมายศึกษาหาความรู้จุดแรก รวมทั้งเป็นที่กินอาหารเที่ยง เวลาก็ปาเข้าไป ๑๓.๓๐ น.    เราจึงกินอาหารด้วยความ เอร็ดอร่อย และได้รับรู้สภาพของบ้านเลี้ยงเด็กจำนวน ๖๗ คน ที่เป็นเด็กกำพร้า เด็กพิการ เด็กยากจน ได้รับความช่วยเหลือจากวงการศาสนาคริสต์    เธอเอ่ยชื่อคุณไซม่อนหลายครั้ง    แน่นอนว่า การเลี้ยงเด็กถึง ๖๗ คน ย่อมมีปัญหามากมายหลากหลายด้าน และด้านหนึ่งคือเรื่องสถานะบุคคล    แต่แม่ทัศนีย์ ก็มีใบหน้าที่อิ่มเอิบแจ่มใส ในลักษณะอิ่มสุข    ผมมาพบคนที่ altruistic brain ใหญ่ อีกคนหนึ่งแล้ว

พูดคุยซักถามทำความเข้าใจ และฟังเพลงหมู่ของเหล่าเด็กๆ และแม่ทัศนีย์ สองเพลง จนเกือบสามโมงเย็น   เราก็ต้องออกเดินทางไปยังบ้านมอทะ ที่โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยา สถานที่เด็กนักเรียนและชาวบ้านมอทะผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง ที่มีปัญหาสถานะบุคคล จำนวนกว่าสองร้อยคน กำลังรอเราอยู่    ผมเดาว่าเขาคงรออย่างกระวนกระวาย เพราะเราไปถึงช้ากว่าเวลานัดกว่าหนึ่งชั่วโมง

โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยาเป็นโรงเรียนใหญ่ สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้น ม.๖ มีนักเรียนถึง ๑,๕๖๕ คน    นักเรียนร้อยละ ๙๙ เป็นกะเหรี่ยง   ไม่มีสัญชาติ ๒๙๒ คน กระทรวงศึกษาธิการให้รหัสหมายเลขบุคคลขึ้นต้นด้วย G และจัดงบประมาณ สนับสนุน ตามมติ ครม. ปี ๒๕๔๘    นักเรียนอยู่ประจำที่โรงเรียน ๒๕๖ คน เพราะบ้านไกล ต้องเดินขึ้นเขาไป

เวทีเริ่มด้วยคุณหมอธวัชชัย เล่าเรื่องสภาพการให้บริการสุขภาพในพื้นที่ภูเขา กันดาร ห่างไกล มีทั้งคนมีสิทธิ์บริการ สุขภาพและคนไม่มีสิทธิ์และคนแอบสวมสิทธิ์    และลงท้ายด้วยปัญหาคนที่ควรได้รับสิทธิเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิ โดยยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ๒ คน คือชนินทร์กับยาว

หลังจากนั้น ผู้ใหญ่บ้านเล่าปัญหาการสำรวจเพื่อรับรองสถานะบุคคล ว่าทางราชการมาเป็นช่วงๆ มีคนตกสำรวจมาก และครูใหญ่เล่าเรื่องนักเรียน

ที่นี่ผมได้เข้าใจตัวเลขทะเบียนบุคคล ๑๓ หลัก ว่าขึ้นต้น 0 หมายถึงนักเรียนที่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัย แต่กระทรวงศึกษาธิการ รับรองสิทธิเข้าเรียนได้,   6 หมายถึงได้สิทธิอยู่ชั่วคราว แต่ยังมีสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย,  7 หมายถึงลูกของ 6,    00 หมายถึงผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว    ดูความหมายของตัวเลขดังกล่าวได้ที่นี่ และดูเรื่อง มาตรา ๒๓ แห่ง พรบ. สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) ๒๕๕๑ ที่นี่ และความรู้เรื่องสัญชาติไทย ที่นี่ (แต่ภาษากฎหมายอ่านเข้าใจยากจัง)

หลังจากอธิบายสภาพสังคม และบริการสุขภาพของคนในอำเภอ ก็ถึงรายการนักเรียน ๔ คน ที่มีปัญหาสถานะบุคคลแตกต่างกัน    เริ่มจาก นส. หทัย (คนกะเหรี่ยงไม่มีระบบนามสกุล) ชั้น ม.๖ บอกว่าพ่อแม่มาอยู่ที่นี่กว่า ๓๐ ปี ตนเองเรียนที่โรงเรียนนี้มาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึง ม. ๖ แล้ว  เคยไปยื่นขอสัญชาติไทยตาม พรบ. สัญชาติ มาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง ตั้งแต่เรียนชั้น ป. ๖ ก็ไม่ได้   ปัจจุบันก็ได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติ และทำอะไรอีกหลายอย่าง นส. หทัยเล่าความยากลำบากในชีวิตของตน และร้องไห้สะอึกสะอื้น ทำเอาคนในห้องสลดใจไปตามๆ กัน

คุณเตือนตั้งคำถามให้นักเรียนตอบ

- ถือบัตรอะไร นักเรียนคนที่สอง (สุรเดช) ตนเอง 7,  พ่อ 0,  แม่ 6    คำแนะนำคือ สุรเดชควรร้องขอสัญชาติไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๓

คนที่น่าชื่นชมมากคือคนที่ ๔ ที่เป็นผู้ชาย เมื่อถามว่าพ่อแม่มีบัตรประชาชนพม่าไหม เขาตอบว่ามีทั้งสองคน    คำแนะนำของ อ. แหววคือ ให้นักเรียนกลับไปทำพาสปอร์ต พม่า แล้วขอวีซ่าเข้าเมืองในฐานะนักเรียน    แล้วขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ในภายหลัง

หลังซักถามนักเรียน คณะที่ไปศึกษาดูงานคุยกันเอง ได้แนวทางดำเนินการของภาคีมากมาย    ความรู้สึกลึกๆ ของผมคือ ผมได้ไปเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม ได้สัมผัสความชั่วร้ายของสถานภาพ “คนกินคน” แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจาก ความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์    และเดาว่าส่วนใหญ่เป็นฝีมือของทางราชการ เชื่อมโยงกับคอร์รัปชั่น และความไร้ประสิทธิภาพของระบบ โดยไม่มีหน่วยเหนือเอาใจใส่แก้ไขระบบ ผมนึกตำหนิ กพร. อยู่ในใจ

อ. แหวว บอกว่า จะจัด “ห้องเรียน” ให้แก่เจ้าของสิทธิ์ เพื่อให้ดูแลตนเอง และดูแลช่วยเหลือกันเองได้ ในระดับหนึ่ง โดยจะแบ่งคนดังกล่าวออกเป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่ (๑) คนที่ไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เลย เพราะไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก, (๒) คนสัญชาติไทยที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยว่าเป็นคนต่างด้าว,  (๓) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติใดๆ เลย,  (๔) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยที่เกิดนอกประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติใดๆ เลย และ  (๕) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะแรงงานต่างด้าว หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว

จบวงประชุมที่โรงเรียนเย็นมาก เราเดินทางไปโรงพยาบาลท่าสองยาง กินอาหารเย็น แล้ว AAR กัน     จากวง AAR ทำให้ทีมงานจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ความรู้มาก สำหรับปรับปรุงกิจกรรมในวันต่อๆ ไป และผมก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากด้วย

ท่านที่สนใจจริงๆ ฟังเสียงการประชุมที่บ้านมอทะ ที่โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยาได้ที่นี่

ผมได้เรียนรู้ว่า มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งมีกรรมการอยู่ในคณะที่เดินทางไปครั้งนี้ ๒ คน คือ อ. แหวว กับ คุณเชษฐ์ (ภควินท์ แสงคง)    นอกจากนั้นในทีมศึกษาครั้งนี้ยังมีจากมูลนิธิกระจกเงา, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,  มูลนิธิศุภนิมิตร,  สสส.,  สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, บางกอก (ลีกัล) คลินิก,  และมูลนิธิสยามกัมมาจล     ทั้งหมดนี้รวมพลังกัน ไปร่วมคณะศึกษาดูงานครั้งนี้ เพื่อดำเนินการจัดการปัญหาสถานะบุคคลอย่างยั่งยืนถาวร ไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง  อย่างที่ดำเนินอยู่นานนับสิบปี เป็นบ่อเกิดของการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์    รวมๆ แล้วผมคิดว่า เป็นเรื่องปัญหาทางสังคม ที่ต้องมีการจัดการจริงจังในยุค คสช. นี้


หมายเหตุ

ขอขอบคุณ อ. แหวว ที่กรุณาแก้ไขต้นฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นข้อกฎหมาย

วิจารณ์ พานิช

๑๑ก.ค. ๕๗

ชมภาพประกอบโปรดกด link : http://www.gotoknow.org/posts/574627

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2014 เวลา 10:03 น.
 

ทุจริตในการวิจัย ป้องกันดีกว่าแก้ ตัวอย่างจากญี่ปุ่น

พิมพ์ PDF

ข่าวเรื่อง Dr. Haruko Obakata ดาวรุ่งด้านวิจัยชีววิทยาพัฒนาการ (developmental biology) และการแพทย์บูรณาการ (regenerative medicine) อายุ ๓๑ ปี ถูกกล่าวหาว่าสร้างข้อมูลปลอมขึ้นมา ประกอบผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature โด่งดังไปทั่วโลก ดังข่าวนี้ และข่าวนี้ ท่านที่สนใจจริงๆ อ่านเรื่องราวของการตรวจสอบผลงานใน PubPeer ได้ที่นี่ และ ที่นี่ จะเห็นว่า พลังของการตรวจสอบผลงาน ในยุค ไอซีที เข้มข้นมาก

เรื่องแบบนี้ เจ็บปวดกันทั่วหน้า ผู้เจ็บปวดที่สุดคือตัว Haruko Obakata เอง ที่เสื่อมเสียชื่อเสียง หล่นวูบจากสภาพดาราหรือเทพธิดา ซึ่งเพิ่งโด่งดังเมื่อ ๓ เดือนก่อนเท่านั้น มาเป็นจำเลยของการทำผิด จริยธรรมในการวิจัย ต้องขอถอนรายงานผลการวิจัยในวารสาร Nature ทั้งสองรายงาน เท่ากับยอมรับการทำผิดของตน ตามผลของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และจะต้องถูกลงโทษ

สถาบันวิจัย Riken ต้นสังกัด ก็เจ็บปวด พลอยเสียชื่อเสียงไปด้วย และโดนบทความใน New York Times วิพากษ์วิจารณ์แถมทั้งเรื่อง gender issue ของนักวิจัย เรื่องนโยบายกดดันให้นักวิจัยตีพิมพ์เพื่อ impact factor มากกว่าการทำวิจัยเพื่อ “good science” การไม่มีข้อกำหนดวิธีปฏิบัติให้นักวิจัยต้องบันทึกการทำงาน ในห้องปฏิบัติการไว้เป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้

สื่อมวลชนญี่ปุ่นก็โดนตำหนิไปด้วย ที่เมื่อมีผลงานวิจัยของ Obakata ตีพิมพ์ ในลักษณะผลการค้นพบ ที่ก้าวกระโดด (คือพบวิธีสร้าง pluripotent stem cells โดยการใส่ความเครียด เช่น ท็อกซินของแบคทีเรีย, กรดอ่อนๆ) ก็ประโคมข่าวใหญ่โตเกินพอดี เพื่อขายข่าว และเมื่อ Obakata เพลี่ยงพล้ำ ก็ประโคมขายข่าวอีก

สถาบันวิจัยชั้นยอดของไทย ถึงคราวต้องกำหนดให้นักวิจัยต้องบันทึก Reserch Log Book ให้ตรวจสอบได้ ว่าทำวิจัยจริง และได้ผลดังในรายงานจริง


เพิ่มเติมวันที่ ๑๐ ก.ค.

ในงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ผมพบคนที่มีความรู้เรื่อง stem cells สองคน คนแรกคือ ศ. นพ. สุรเดช หงส์อิง ซึ่งไปรับพระราชทานรางวัลผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาการปลูกถ่ายเซลล์ ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในเด็ก จึงถามขอความรู้เรื่องนี้จากท่าน ท่านบอกว่าปัญหาอยู่ที่เมื่อตีพิมพ์แล้วคนอื่น ทดลองแบบเดียวกันบ้าง ทำไม่สำเร็จ ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า not reproducible

อีกท่านหนึ่งคือ ศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ท่านก็ให้ความเห็น เหมือนกัน ว่าปัญหาอยู่ที่ irreproducibility ทำให้ผมคิดว่า หากผมเป็น Dr. Haruko Obakata และไม่ได้ทำผิด จริยธรรมในการวิจัย ผมก็จะทำการทดลองใหม่ ให้พยานที่เป็นคนนอกมาเป็นพยานว่าทำได้จริงๆ ไม่เห็นจะต้องตีโพยตีพายร้องไห้ รวมทั้งผมจะไม่ถอนรายงานใน Nature ทั้งสองบทความ

คือการโดนกล่าวหา จะยิ่งทำให้ Dr. Haruko Obakata (หรือผู้ไม่ได้ทำผิด) ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง ได้ยืนยันการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของตนเอง ว่าค้นพบจริง


เพิ่มเติม ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗

ข่าวนี้ บอกว่า ศาสตราจารย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องฆ่าตัวตาย

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ค. ๕๗ ปรับปรุง ๑๐ ก.ค. ๕๗ และ ๘ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2014 เวลา 10:13 น.
 

​สอนอย่างมือชั้นครู : ๕. วันแรกในชั้นเรียน

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๕ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๕ ตีความจากบทที่ 4. Your First Day of Class

สรุปได้ว่า อาจารย์ต้องใช้วันแรกในชั้นเรียนสำหรับสร้างความประทับใจ ความน่าสนใจของวิชา สร้างความรู้จักสนิทสนมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา และระหว่างนักศึกษาด้วยกัน


ก่อนชั้นเรียนแรก

อาจารย์ต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ รวมทั้งต้องแสดงให้นักศึกษาเห็นชัดเจนว่า อาจารย์มีการเตรียมตัวไว้ เป็นอย่างดี โดยให้ตรวจสอบหรือเตรียมสิ่งต่อไปนี้

  • ตรวจสอบว่า ข้อมูลบอก course materials ใน เว็บไซต์ ของรายวิชาที่เคยลงไว้ มีความสมบูรณ์ครบถ้วน
  • เตรียมถ่ายสำเนาเอกสารแจกนักศึกษาในวันแรกไว้ให้พอจำนวนนักศึกษา เตรียมไว้ล่วงหน้า หลายๆ วัน เพราะหากเตรียมตอนใกล้วันสอน อาจมีอาจารย์หลายคนต้องการใช้ ทำให้คิวยาว หรือเครื่องเสีย
  • เตรียมร่างกำหนดการในชั้นเรียนแรก ควรแยกระหว่างกิจกรรมที่ต้องทำ กับกิจกรรมที่ทำหากเวลาอำนวย
  • หนึ่งถึงสองวันก่อนชั้นเรียนแรก ไปตรวจสอบความพร้อมของห้องเรียน ในเรื่องต่อไปนี้

- เทคโนโลยีต่างๆ (คอมพิวเตอร์ และเครื่องฉาย LCD สำหรับฉาย PowerPoint และ VDO, เครื่องฉายแผ่นทึบ, ฯลฯ) ใช้การได้ดี และตนเองใช้เครื่องเหล่านั้นคล่อง อย่าลืมเตรียมเครื่องเขียน low tech ที่จำเป็น เช่นปากกาเขียน ไวท์ บอร์ด แปรงลบ

- ตรวจสอบแสงไฟ สวิตช์ไฟว่าใช้การได้ดี จะปิดหรือหรี่ไฟที่ส่วนไหนของห้องที่สวิตช์ ตัวไหน ตรวจสอบเครื่องปรับอากาศ นาฬิกา และเครื่องใช้อื่นๆ หากมีสิ่งชำรุดบกพร่อง ให้แจ้งซ่อม เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพใช้การได้ดีในวันแรกของการสอน

- เข้าไปในห้องเรียนประหนึ่งว่ากำลังสอน เป็นการซ้อมคนเดียว โดยจินตนาการว่ามี นักศึกษานั่งอยู่เต็มห้อง ซ้อมมองตานักศึกษา ยิ้มให้ เดินไปหานักศึกษา เดินไปเดินมาในห้อง

  • ก่อนชั้นเรียนแรกครึ่งชั่วโมง (หรือมากกว่า) เตรียมความพร้อมของตนเอง ในด้านร่างกาย เสียงพูด การแต่งกายที่เรียบร้อยและเป็นทางการ ท่าทางที่แสดงความมั่นใจ และนิ่งสงบ เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักศึกษา อาจารย์ต้องแสวงหาวิธีส่งผ่านความกระตือรือร้น ความหลงใหล ความมีชีวิตชีวา ต่อการเรียนวิชาของตน ให้แก่นักศึกษา เพื่อสร้างความสนใจต่อการเรียน โดยเขาแนะนำวิธีเตรียมตัว ๙ ขั้นดังนี้

1.ยืนตรงอย่างมั่นคง เท้าสองข้างห่างกัน ๑ ฟุต ให้มีความรู้สึกว่าเท้าวางอยู่บนพื้นอย่างมั่นคง

2.หายใจช้าๆ และลึกๆ แบบใช้กระบังลม ๓ - ๔ ครั้ง ให้รู้สึกว่ากระดูกซี่โครงขยายออก เพื่อให้อ็อกซิเจนสร้างความแจ่มใสแก่สมอง

3.ยืดทุกส่วนของร่างกาย

4.สลัดแขนขา ประหนึ่งว่ากำลังสลัดความเครียดออกไป

5.กลอกตาซ้าย-ขวา และบน-ล่าง เพื่อเตรียมสบตานักศึกษา

6.ร้องเพลงระดับเสียงขึ้นลงสองสามครั้ง

7.เปล่งถ้อยคำเป็นเสียงแหลมและทุ้มที่สุด

8.อ่านหนังสือสำหรับเด็กดังๆ เน้นเสียง และเว้นจังหวะแบบแสดงละคร

9.อ้าปาก และยืดริมฝีปากไปในทางต่างๆ หรือทำท่าการขยับปากให้มากผิดปกติ ในขณะพูดคำที่ซับซ้อน


ความประทับใจแรกพบ

อาจารย์ต้องวางแผนใช้ชั่วโมงแรกสำหรับสร้างความคาดหวัง และพฤติกรรมของนักศึกษา/ชั้นเรียน ที่เหมาะสม ที่จะใช้ไปตลอดการเรียนรายวิชานี้ เช่น หากต้องการให้มีการอภิปรายมากๆ ก็ต้องหาประเด็น มาให้นักศึกษาอภิปรายกันมากๆ ตั้งแต่ชั่วโมงแรก เช่นให้อภิปรายความคาดหวังของนักศึกษา หากต้องการให้เกิดการเรียนแบบช่วยเหลือกัน (cooperative learning) ก็จัดให้มีกิจกรรมกลุ่มย่อยตั้งแต่วันแรก เป็นต้น

วิธีทำให้ชั้นเรียนมีบรรยายกาศเอาจริงเอาจังต่อการเรียน ได้แก่

1.จัดให้มีเอกสารประมวลวิชาที่ครบถ้วนและเขียนอย่างประณีต อ่านง่าย เข้าใจง่าย

2.กล่าวสองสามประโยค ที่บอกความสำคัญของรายวิชา และเอกสารที่แจก เพื่อสร้าง “โรคระบาด” ความกระตือรือร้นต่อวิชานั้นๆ

3.แต่งกายให้เป็นทางการกว่าปรกติเล็กน้อย เพื่อแสดงความเป็นมืออาชีพ และความเอาจริงเอาจัง

4.ทำให้ช่วงเวลาของชั้นเรียนมีค่าสูง แม้ในวันแรก ก็ไม่ใช่แค่วันสบายๆ ที่ปล่อยให้ผ่านไป เมื่ออาจารย์แสดงท่าทีเอาจริงเอาจังเช่นนี้ นักศึกษาก็จะได้รับการสื่อสารความเอาจริงเอาจัง โดยอาจารย์ไม่ต้องกล่าว

เพื่อแสดงว่า อาจารย์ให้คุณค่าและเคารพการตรงต่อเวลา ไปถึงห้องเรียนก่อนเวลา และทักทายให้ความเป็นกันเองต่อนักศึกษา

ใช้วันแรกสร้างแนวทางความประพฤติ (code of conduct) ของนักศึกษา ซึ่งจะใช้ร่วมกันตลอดภาคการศึกษา


แลกเปลี่ยนข้อมูล

ห้องเรียนเป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลสองทาง แต่ผู้เป็นฝ่ายริเริ่มคืออาจารย์ เริ่มตั้งแต่เมื่อนักศึกษามาที่ห้อง อาจารย์เตรียมติดประกาศไว้หน้าห้อง บอกชื่อและรหัสของวิชา, วันเวลาเรียน, ชื่ออาจารย์ผู้สอน, ห้องทำงานของอาจารย์, เวลาที่อาจารย์อยู่ที่ห้องทำงาน

ต่อไปนี้เป็นวิธีการทำให้การเรียนการสอนราบรื่น มีการร่วมมือกัน

  • บัตรข้อมูลนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาเห็นว่าอาจารย์สนใจ และต้องการรู้จักนักศึกษา เป็นรายคน เป็นข้อมูลเพื่อช่วยให้อาจารย์จัดการเรียนการสอนตรงกับความต้องการ ของนักศึกษามากขึ้น ให้นักศึกษาแต่ละคนเขียนบอกข้อมูลต่อไปนี้ : ชื่อและนามสกุล, ชื่อเล่น, ชั้นปี, สาขาวิชาเอก, วิชาในสาขานั้นที่เคยเรียนมาก่อน, และข้อมูลอื่นๆ เช่น จังหวัดภูมิลำเนา ความสนใจนอกห้องเรียน อาชีพที่มุ่งหวังในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูล ให้อาจารย์หาทางจัดการเรียนรู้ให้ตรงความสนใจ และอาชีพในอนาคต อย่าลืมบอกให้ นักศึกษาเขียนระบุว่านักศึกษาคาดหวังอะไรจากการเรียนรายวิชานี้ และอยากให้เน้น เรื่องไหนเป็นพิเศษ
  • บอกข้อมูลประวัติของอาจารย์ อาจบอกด้วยวาจาในห้องเรียน หรือเขียนไว้ย่อๆ ในเอกสาร ประมวลวิชา ข้อมูลนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของตัวอาจารย์ ควรบอกว่าอาจารย์สนใจ ทำวิจัยเรื่องอะไร ทำไมจึงสนใจสาขาวิชานี้ ทำไมจึงรักการสอนวิชานี้ ความรู้เกี่ยวกับ วิชานี้ มีประโยชน์อย่างไรต่อการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
  • ข้อมูลของรายวิชา ขีดเส้นใต้ส่วนสำคัญในเอกสารประมวลวิชา และนำมาย้ำในห้องเรียน และหาทางให้นักศึกษาอ่านเอกสารประมวลรายวิชา ซึ่งจะกล่าวถึงในบทที่ ๓ ของหนังสือ

อธิบายให้นักศึกษาเข้าใจ ว่าทำไมอาจารย์จึงเลือกวิธีสอนแบบนี้ เป็นวิธีการแสดงความเป็น มืออาชีพของอาจารย์ และเพื่อลดกระแสต่อต้านจากนักศึกษา ที่รู้สึกว่าอาจารย์มีวิธีสอน ที่ไม่ตรงกับที่ตนคาดหวัง

บอกอย่างชัดเจน ว่าอาจารย์คาดหวังอะไรบ้างจากนักศึกษา เช่นการเตรียมตัวก่อนมา เข้าชั้นเรียน การร่วมแสดงข้อคิดเห็น หรือกระบวนการกลุ่ม ในชั้นเรียน รวมทั้งให้ คำแนะนำวิธีเรียนที่ได้ผลดี วิธีจดบันทึก และอื่นๆ

แม้นักศึกษาไม่ถาม ควรบอกสิ่งต่อไปนี้

-จะมีการทดสอบอย่างไร

-คำถามในการทดสอบเป็นแบบไหน

-การทดสอบต้องการการคิดแบบไหน

-นักศึกษาควรเตรียมตัวสอบอย่างไร

-จะมีการแจกสรุปประเด็นของการเรียนหรือไม่

-จะมีช่วงเวลาสรุปประเด็นหรือไม่

-มีวิธีให้คะแนนการบ้าน และการสอบอย่างไร

-มีหลักการให้เกรด A, B, C, D, E อย่างไร

-คำแนะนำต่อนักศึกษาในการได้เกรดสูง

  • สัมภาษณ์ซึ่งกันและกัน ใช้เวลาประมาณ ๕๐ นาที แจกแบบสอบถาม ที่มี ๖ คำถามให้นักศึกษาตอบ ดังต่อไปนี้

-ท่านหวังได้อะไรจากวิชานี้

-อาจารย์จะช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร

-นักศึกษากังวลเรื่องวิชานี้อย่างไรบ้าง

-ท่านมีพื้นความรู้และต้นทุนอะไรบ้างสำหรับเรียนวิชานี้

-ควรมีข้อกำหนดพฤติกรรมของนักศึกษาอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยให้การเรียนบรรลุผลดี

-ปัจจัยในห้องเรียน และที่เกี่ยวกับอาจารย์ อะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ของท่าน

ให้เวลานักศึกษาแต่ละคนเขียนคำตอบ ๕ นาที แล้วจับกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน ๑๐ นาที ตามด้วยตัวแทนกลุ่มรายงานต่อชั้นเรียน ใช้เวลา ๑๕ นาที

เวลาอีก ๒๐ นาทีเป็นการถามอาจารย์ โดยที่ในแบบสอบถามมีที่ให้นักศึกษาเขียนคำถาม ถามอาจารย์ผู้สอน แล้วจับกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน ๑๐ นาที อีก ๑๐ นาทีที่เหลือ ตัวแทนกลุ่มอ่านคำถามต่อชั้น และอาจารย์ตอบ รวม ๑๐ นาที

ผู้เขียนบอกว่า กระบวนการทั้งหมดนี้ จะเป็นการปูพื้นฐานบรรยากาศชั้นเรียนที่ดี ที่ครูและศิษย์เข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

  • เรียนรู้และจดจำชื่อนักศึกษา นักศึกษาจะประทับใจหากอาจารย์จำชื่อตนได้ นักศึกษาในชั้นเล็ก และในสถาบันขนาดเล็กจะคาดหวังสภาพนี้ เทคนิคจำชื่อ นักศึกษามีหลายวิธี เช่น

-จัดผังที่นั่ง นักศึกษาอาจไม่ชอบ แต่เมื่อทราบเหตุผลก็น่าจะยอมรับได้ และเมื่ออาจารย์จำชื่อนักศึกษาได้แล้ว ก็ให้อิสระ

-บันทึกลักษณะพิเศษของนักศึกษาแต่ละคน เช่นอ้วน ผอม สูงโย่ง ตัวดำ ฟันเหยิน แต่ต้องเก็บให้มิดชิด อย่าให้นักศึกษาเห็น

-มีบัญชีรายชื่อ เอาไว้ขานชื่อให้นักศึกษาตอบ โดยเน้นเรียกแบบสุ่ม

-ให้นักศึกษาติดป้ายชื่อ โดยแจกตอนเข้าห้อง และเก็บตอนเลิกชั้นเรียน จะเป็นวิธีเช็คชื่อเข้าเรียนแบบไม่รู้ตัวได้ด้วย

-ในชั้นเรียนขนาดใหญ่ อาจารย์อาจสร้างความประทับใจของนักศึกษาว่าจำชื่อได้หมด โดยจำจากรูปถ่ายพร้อมชื่อ ซึ่งหน่วยทะเบียนนักศึกษาอาจมีให้ ถ้าไม่มีก็ให้ผู้ช่วย จัดถ่ายให้ หรือขอรูปจากนักศึกษา

ละลายน้ำแข็ง : ทำความรู้จักกันเชิงสังคม

เป็นการเล่นเกมเพื่อทำความรู้จักกัน อาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสม เช่น

 

  • แนะนำตัวตามปกติ บอกชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น สาขาวิชาเอก และเหตุผลที่มาเข้าเรียนวิชานี้ รวมทั้งอาจให้บอกว่าตนมีข้อ         ภูมิใจในตัวเองด้านใดบ้าง
    • สัมภาษณ์ ๓ ขั้นตอน ทำโดยให้นักศึกษาจับคู่สัมภาษณ์ซึ่งกันและกัน ขั้นตอนที่สามคือให้แต่ละคนแนะนำคู่ของตนต่อเพื่อนในชั้น เป็นการฝึกฟัง และฝึกพูดต่อชั้นเรียนไปในตัว
    • สำรวจห้องเรียน ทำโดยอาจารย์ถามชั้นเรียน แล้วให้นักศึกษายกมือ เพื่อให้เพื่อนๆ ทั้งชั้นทราบข้อมูล ตัวอย่างคำถาม เช่น ใครมาจากภาค..., ใครแต่งงานแล้ว, ใครเคยเรียนวิชา...มาแล้ว, เป็นต้น
    • ตามล่าหาเป้าหมาย ทำโดยอาจารย์แจกกระดาษบอกคุณลักษณะของเป้าหมาย ที่แตกต่างกันแก่นักศึกษาแต่ละคน เช่น เกิดเดือนเดียวกันกับตนเอง พูดได้สองภาษา เป็นต้น กำหนดเงื่อนไขว่า เป้าต้องไม่ซ้ำคนกัน และเมื่อพบแล้วก็ให้ลงชื่อไว้บนกระดาษ ที่เป็นโจทย์
    • บิงโกมนุษย์ เป็นเกมแนวเดียวกันกับเกมตามล่า แต่ยากขึ้น โดยอาจารย์แจกกระดาษ ที่ตีตาราง ๔ x ๔ ในแต่ละช่องระบุคุณลักษณะของบุคคลเป้าหมาย ให้นักศึกษาไปถามหา บุคคล และให้ลงชื่อไว้ในช่อง ใครมีชื่อคนครบช่องก็ร้อง “บิงโก” และได้รับรางวัล ควรมีหลายรางวัล
    • วงกลมแห่ง... (ความเหมือน หรือความต่าง) ทำโดยแจกกระดาษ ที่มีวงกลมใหญ่อยู่ ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยวงกลมเล็กหลายวง (เช่น ๕ วง) ในวงกลมใหญ่เขียนชื่อตนเอง ในวงกลมเล็กเขียนลักษณะของตนเอง เช่น เพศหญิง อายุ ๑๗ ปี ชอบดนตรี เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ชอบไปวัด แล้วให้หาเพื่อนที่เหมือนตนมากที่สุด หรือที่แตกต่างจากตนมากที่สุด


ละลายน้ำแข็ง : ทำความรู้จักกันด้วยเนื้อหาวิชา

การทำความรู้จักกันด้วยเนื้อหาวิชา นอกจากช่วยสร้างความคุ้นเคยกันแล้ว ยังอาจช่วยให้อาจารย์ได้รู้ว่า นักศึกษาคนใด มีความรู้ผิดๆ ในเรื่องใดบ้าง อาจใช้เทคนิคดังต่อไปนี้ เช่น

  • เทคนิคประเมินห้องเรียน มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือบทที่ ๒๘ โดยเลือกใช้เทคนิคสำหรับ ใช้ในวันแรกของการเรียน เช่น The Background Knowledge Probe, Focused Listening, Self-Confidence Survey
  • ประกาศปัญหา ทำโดยให้นักศึกษาเขียนลงบนกระดาษว่าตนคาดว่าจะมีปัญหาในการเรียน อย่างไรบ้าง หรือบอกว่าควรป้องกันปัญหาอะไรเสียแต่ต้น แล้วอาจารย์ทำหน้าที่เป็น facilitator บันทึกปัญหาและความถี่ลงบนกระดานหน้าชั้น หรือบนกระดาษ flip chart หรือบนกระดาษที่ฉายขึ้นจอทางเครื่องฉายแผ่นทึบ หรือลงในคอมพิวเตอร์และฉายขึ้นจอ หากข้อเขียนของนักศึกษาไม่ชัดเจน อาจารย์ซักได้ แต่อย่าซักแบบตัดสินถูก-ผิด คือต้องรับฟังปัญหาด้วยใจเป็นกลาง ไม่ตัดสินว่าควรไม่ควร

เทคนิคนี้มีประโยชน์อย่างน้อย ๔ ประการ คือ (๑) เกิดการสื่อสารระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ และระหว่างนักศึกษาด้วยกัน (๒) ช่วยให้นักศึกษาใจชื้น ว่าตนไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหา (๓) บ่งชี้ต่อนักศึกษาว่า อาจารย์ยินดีรับฟัง และ (๔) ส่งเสริมให้นักศึกษาหาทางแก้ปัญหาด้วย ตนเอง (ผมขอเติมว่า หรือช่วยเหลือกันเองในหมู่เพื่อนนักศึกษา) ไม่ใช่เอาแต่หวังพึ่งอาจารย์

  • รายการสามัญสำนึก ทำโดยอาจารย์เขียนข้อความที่เกี่ยวข้องกับสาระในรายวิชา เฟ้นหา ข้อความที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อทั่วๆ ไป หรือเป็นที่ถกเถียงไม่มีข้อยุติ จำนวนราวๆ ๑๕ข้อความ ให้นักศึกษาแต่ละคนกาถูก-ผิด แล้วให้จับคู่หรือจับกลุ่มย่อยอภิปรายแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็น ว่าทำไมตนมีความเห็นเช่นนั้น แล้วร่วมกันลงมติต่อข้อความแต่ละข้อ แล้วนำมา ถกเถียงกันในชั้นทีละข้อ ตามด้วยข้อเฉลยของอาจารย์ หรือจะไม่เฉลย ให้นักศึกษารอ เรียนรู้ในรายวิชา ก็ได้


ปิดฉากชั่วโมงแรก

ก่อนเลิกชั้นเรียนแรก อาจารย์ควรเขียนคำถาม ให้นักศึกษาแต่ละคนเขียนตอบลงกระดาษส่งอาจารย์ โดยไม่ต้องลงชื่อ ตัวอย่างคำถาม

-ความรู้ที่สำคัญที่สุดที่ท่านได้เรียนรู้ในวันนี้คืออะไร

-กระบวนการเรียนรู้ในวันนี้ ทำให้ความคาดหวังต่อวิชานี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

-ท่านยังมีข้อสงสัย หรือข้อข้องใจเกี่ยวกับวิชานี้อย่างไรบ้าง

คำถามทำนองนี้ เป็นการแสดงความเอาใจใส่ต่อนักศึกษาของอาจารย์

คำแนะนำสุดท้ายของผู้เขียนคือ อย่าเลิกชั้นเรียนก่อนเวลาเป็นอันขาด เพราะจริงๆ แล้วการเรียนในวันแรกมีเรื่องให้ทำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความประทับใจในความเอาใจใส่นักศึกษา และความเอาจริงเอาจังของอาจารย์

วิจารณ์ พานิช

๑ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2014 เวลา 10:41 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๓. วิ่งออกกำลังที่หาดใหญ่

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผมออกจากโรงแรม หรรษา เจบี ที่หาดใหญ่ วิ่งออกไปทางด้านหลังโรงแรม ขานไปกับคลองระบายน้ำ ไปข้ามสะพานข้ามคลอง สู่วงเวียนเล็กๆ แล้ววิ่งไปทางใต้ ตามถนนจิระนคร ไปพบป้ายโครงการตลาดริมคลอง จึงวิ่งเข้าไปดู

ไปพบสถานที่ก่อสร้างสวยงาม ในลักษณะสวนริมคลอง และสร้างฝาปิดคลองให้คนมาพักผ่อนหรือขายของได้ มีคนมานั่งคุยกันอยู่ ๒ คน ผมวิ่งเข้าไป พบคุณลุงใจดีนั่งอยู่ที่ม้านั่ง เข้าไปใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นประติมากรรมประกอบพื้นที่ ทำให้มีบรรยากาศพักผ่อน เลยจากนี้ไป ผมก็ได้เห็นน้ำครำดำคล้ำในคลอง เมื่อวิ่งขนานไปกับคลอง ก็ไปพบสะพาน ข้ามคลองสวยงาม เป็นบริเวณที่การก่อสร้างสวยงาม แต่ร่องรอยประกอบบอกชัด ว่าขาดการดูแล ปล่อยให้สกปรก

ผมวิ่งออกไปทาง ซอย 1/1 สามชัย ไปสู่ถนนที่ผมลืมถ่ายชื่อมา เป็นถนนที่มีบ้านพักเทศบาล และมีหน่วยวัสดุเทศบาล และเมื่อวิ่งไปอีกหน่อยหนึ่งก็มีศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นตึกสามชั้นใหญ่โตมาก

พื้นที่บริเวณที่วิ่งนี้ถือว่าเป็นซอยที่สมัยก่อนเป็นบริเวณห่างไกลความเจริญ บรรยากาศทำให้ผมนึกถึงสมัย ๔๐ ปีก่อน และนึกถึง “น้าสามปล้อง” ซึ่งเป็นน้าสาวของสาวน้อย และมีชื่อจริงว่าสมปอง มีบ้านอยู่ที่พัทลุง เราขับรถพายาย (แม่ยายของผม) ไปเยี่ยมบ่อยๆครั้งหนึ่งน้าสามปล้องไปที่บ้านเราที่ มอ. หาดใหญ่ และพาเราไปดูที่ดินของท่านที่น่าจะอยู่บริเวณนี้ มีบ้านไม้เก่าๆ ที่ท่านให้เขาเช่า และออกปากว่ายินดียกให้ เราจะได้ปลูกคลินิกรักษาคนไข้

ผมบอกสาวน้อยว่า น้าสามปล้องมีหลานที่เอามาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม และยังอยู่ในวัยรุ่น ต่อไปเขาก็คงอยากได้สมบัติ ชิ้นนี้ ซึ่งถือว่ามีราคามาก หากเรารับก็เสมือนไปแย่งสมบัติเขา ไม่รับดีกว่า เราจึงเฉยๆ เสีย ไม่พูดถึงที่ดินนี้กับน้าสามปล้อง อีก น่าสามปล้องเสียชีวิตอายุกว่า ๘๐ ปี ถือว่าอายุยืน ส่วนคุณยายสุพร แม่ยายผม อายุถึง ๙๔ ปี

การวิ่งออกกำลัง นอกจากได้ออกกำลังกายแล้ว ยังได้ใช้เวลาพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ประสบ บางครั้งก็จินตนาการ กลับไปไกล นำเรื่อน้าสามปล้องมาเล่า เพื่อจะบอกว่า การฝึกฝนตนเองให้เอาชนะความโลภได้ (บ้าง) เป็นลาภอันประเสริฐ ไม่โลภเป็นลาภ เพราะทำให้ชีวิตของผมราบรื่น ได้รับความเชื่อถือกว้างขวางในระยะยาว

จากการวิ่งออกกำลังในเช้าวันที่ ๘ กรกฎาคมนี้ ผมได้ภาพสะท้อนความเสื่อมโทรมของการศึกษาไทยมาให้ดูด้วย

วิจารณ์ พานิช

๑๐ก.ค. ๕๗

ชมภาพประกอบกด link http://www.gotoknow.org/posts/574575

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2014 เวลา 10:38 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๒. พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกที่มหิดลสิทธาคาร

พิมพ์ PDF

ปี ๒๕๕๗ เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่ศาลายา และจัดที่มหิดลสิทธาคาร อันสง่างามในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗

โชคดีอย่างยิ่ง ที่ฝนไม่ตก

ทีมงานเขานัดให้ผมไปถึง ๗.๐๐น. ผมนัดคุณสรพงศ์ให้ไปรับที่บ้านเวลา ๕.๓๐ น. กะว่ารถอาจจะติด แต่ผิดคาด รถไปถึง ๖.๑๐ น. ผมจึงไปนั่งทำงานที่สำนักงานก่อน จนเกือบ ๗ น. จึงไปที่อาคารมหิดลสิทธาคาร

ตั้งแต่รถเข้าถนนพุทธมณฑลสาย ๔ ผมก็แปลกใจที่รถไม่ติด เมื่อเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัยก็ไม่เห็นความจอแจ ขวักไขว่ อย่างบรรยากาศในสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดลปีก่อนๆ ซึ่งจัดที่หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์

มาทราบหลังงานเสร็จ ว่าน่าจะเกิดจาก ๒ ปัจจัย ปัจจัยแรกและเป็นปัจจัยหลัก คือทีมงานเขาเตรียมการณ์กัน รอบคอบมาก มีการขอความร่วมมือตำรวจ จัดที่จอดรถให้แก่ผู้นำรถส่วนตัวมา ให้ไปจอดที่ถนนอักษะ แล้วมีรถ shuttle บริการมาส่งที่บริเวณงาน คือกันไม่ให้รถที่ไม่มีบัตรผ่านพิเศษเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัย รวมทั้งการจัดการรายละเอียดอื่นๆ ที่มีการปรับแผนหลังซ้อมใหญ่ในวันอาทิตย์

ปัจจัยที่สองคือ เขากำหนดให้บัณฑิตเข้ารายงานตัวตั้งแต่ ๕.๓๐ น. และเข้าสู่ห้องพิธีระหว่าง ๖.๐๐ - ๖.๓๐ น. เมื่อผมไปถึง ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว

มหิดลสิทธาคารมีขนาดเล็กไป เมื่อใช้จัดพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ที่ตามปกติจะมีบัณฑิตเข้ารับพระราชทาน ปริญญาบัตร ๓,๓๐๐ คนในช่วงเช้า และจำนวนเท่าๆ กัน ในช่วงบ่าย แต่มหิดลสิทธาคารมีที่นั่งเพียง ๒,๐๐๐ ที่ จึงต้องมีการ ปรับปรุงสถานที่ห้องใต้ดิน ให้เป็นที่นั่งของบัณฑิตส่วนหนึ่ง แล้วจึงหมุนเวียนให้ขึ้นมานั่งในที่นั่งปกติเพื่อเข้ารับพระราชทาน ปริญญาต่อไป คนที่รับแล้วก็หมุนเวียนไปนั่งชั้นล่างแทน การปรับปรุงนี้ต้องใช้เงิน แต่ก็มีการเตรียมล่วงหน้าไว้อย่างดี จนการหมุนเวียนคนไม่ขลุกขลักเลย

บรรยากาศของงาน ส่วนหลักๆ ก็เป็นไปตามวัฒนธรรมของมหิดล ตามที่เล่าแล้วในปีก่อนๆ เพียงแต่ปีนี้ย้ายสถานที่

เมื่อจบพิธี ทีมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยชวนกันไปถ่ายรูปหมู่ กับอาคารมหิดลสิทธาคารด้านโน้นด้านนี้ โดยท่านคณบดีคณะวิศวนำ drone มาถ่ายรูปจากมุมสูง เป็นที่ครึกครื้น

ตอนนั่งรถกลับ ผมได้เห็นว่า การจัดพิธีที่ศาลายาดีกว่าจัดที่หอประชุมกองทัพเรือมาก เพราะที่วิทยาเขตศาลายา สถานที่กว้างขวาง และเป็นของมหาวิทยาลัยเอง จึงสามารถจัดสถานที่ให้บริการแก่ญาติมิตรของบัณฑิตได้เต็มที่ จะเป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลในทางอ้อม ว่ามีวิทยาเขตที่ร่มรื่นสวยงาม เป็นบรรยกาศสัปปายะ ต่อการเรียนรู้ของลูกหลานของท่าน

วิจารณ์ พานิช

๑๐ก.ค. ๕๗

ต้องการชมภาพประกอบโปรดกด link : http://www.gotoknow.org/posts/574417

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2014 เวลา 12:31 น.
 


หน้า 329 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8632737

facebook

Twitter


บทความเก่า