Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

“ไซโล” เป็นจำเลย

พิมพ์ PDF

ในการประชุม PMAC 2014 เรื่อง Education Reform for Health Equity มีการพูดถึง “ไซโล” บ่อยมาก ในหลาย session    ว่าเป็นสาเหตุของความล้าหลังของการจัดระบบการศึกษา    ทำให้ปฏิรูปการเรียนรู้ได้ยาก

keyword ที่พึงประสงค์คือ integration ซึ่งหมายถึงบูรณาการ หรือความเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่างๆ

“ไซโล” หมายถึงพฤติกรรมแยกส่วน ต่างหน่วย/ต่างสาขาวิชา ต่างทำ     ไม่ทำงานร่วมกัน

ในระบบการศึกษา เป็นการทำงานแบบเอาง่ายเข้าว่า    เพื่อความสะดวกของคนทำงาน     ทำเพียงเพื่อให้งานตรงหน้าของตนผ่านไป    โดยไม่คำนึงถึงผลงานของส่วนรวม     ไม่คำนึงถึงผลงานที่แท้จริง

การทำงานแบบไซโล ตรงกันข้ามกับการทำงานแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    สร้าง synergy ระหว่างหน่วยงาน    หรือ synergy ระหว่างศาสตร์    ทำให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพสูง ที่การทำงานแบบไซโล ไม่สามารถบรรลุได้

ปัจจุบันเป็นยุคความรู้ระเบิด    ความรู้แบบแยกส่วนหาง่าย จาก อินเทอร์เน็ต    ส่วนที่หายากและ มีคุณค่าสูง คือความรู้ที่บูรณาการอยู่กับการปฏิบัติ บูรณาการกับบริบท บูรณาการกับศาสตร์อื่น     คน/หน่วยงาน ที่ทำงานแบบ ไซโล จะไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่มีคุณค่าสูงได้

เนื่องจากความรู้มีมาก เพื่อสะดวกต่อนักวิชาการ จึงแยกส่วนความรู้ แยกย่อยลงไปเรื่อยๆ     แล้วสอนเฉพาะส่วนย่อยนั้น    การศึกษาใด จัดหลักสูตรให้มีวิชาแยกย่อยลงลึกจำนวนมาก นศ./บัณฑิต จะรู้ไม่จริง    เพราะขาดพลังเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์

เวลานี้ มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูง จะจัดหลักสูตรให้มีน้อยรายวิชา     จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นรายวิชาบูรณาการ    ซึ่งในชั้นต้นอาจารย์จัดการเรียนรู้ยาก    แต่เมื่อดำเนินการได้แล้ว จะมีคุณต่อศิษย์ล้นเหลือ    และจะทำให้การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนั้นมีคุณภาพสูง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 21:03 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๒. ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์

พิมพ์ PDF

วันที่ ๖ ก.พ. ๕๗ ผมไปร่วมฟังการประชุมวิชาการและอบรมครูเชิงปฏิบัติการ “ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” ครั้งที่ ๒    ที่ มรภ. พระนครศรีอยุธยา    จัดโดย มรภ. พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับโครงการวิจัย “ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เอเซียตะวันออกเฉียงใต้” (สกว.)    ที่มี ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เป็นหัวหน้าโครงการ

ผมขอขอบพระคุณ ดร. วินัย ที่กรุณาเชิญ    โดยที่จริงๆ แล้วการประชุมนี้มี ๒ วัน คือวันที่ ๖ - ๗ ก.พ. แต่ผมมีบุญไปได้วันเดียว

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหรือฟังเรื่องประวัติศาสตร์    ไปประชุมคราวนี้ได้รับแจกเอกสารประกอบ การประชุมมา ๒ เล่ม หนา ๒๓๙ หน้าเล่มหนึ่ง    อีกเล่มหนึ่งหนา ๓๓๑ หน้า    ซึ่งต่อไปก็จะมีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ

ดร. เตช บุนนาค นักประวิติศาสตร์อาวุโสของประเทศไทย กล่าวในตอนท้ายของการประชุมว่า    ผลงานวิจัยนี้มีคุณประโยชน์ต่อการเข้าสู่ AEC อย่างยิ่ง    เพราะจะช่วยให้เรารู้จักและเข้าใจประเทศในอาเซียนดีขึ้น    ท่านกระซิบว่า ในสายตาของท่าน ดร. วินัย และ รศ. ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร (ที่มานำเสนอในตอนเย็นวันนี้) เป็นนักประวัติศาสตร์ที่เด่นที่สุดในประเทศไทย

ดร. วินัย เป็นนักประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิจัยเอกสารชั้นต้น    ได้นำเสนอผลการวิจัยเลือดรักชาติ ต่อต้านการครอบงำของต่างชาติ ของเวียดนาม     ให้เห็นว่า บ่มเพาะมาจากการตกอยู่ใต้อิทธิพลจีนเป็นเวลา ๑ พันปี    แล้วตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส  และรบกับอเมริกาในเวลาต่อมา    แรงบีบคั้นทางการเมือง ทำให้คนเวียดนามเป็นนักสู้     ดร. วินัยยังไม่ได้เอ่ยถึงธรรมชาติของการถูกพายุไต้ฝุ่นลูกแล้วลูกเล่าในแต่ละปี    ที่มีส่วนสร้างบุคลิกนักสู้ ของคนเวียดนาม    เพราะนักประวัติศาสตร์อาจไม่รวมเอาปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และลมฟ้าอากาศ เข้าไปในเรื่องทาง ประวัติศาสตร์

แต่ผมมองว่า ศาสตร์ต่างๆ ต้องมีพลวัต    และยุคปัจจุบันต้องบูรณาการศาสตร์ให้มากที่สุด    เพื่อให้เข้าใกล้ “ความจริง” ให้มากที่สุด    การแยกส่วนความรู้ แยกเป็นศาสตร์ที่ซอยย่อย เป็นวิธี “แบ่งแยกเพื่อให้เข้าใจง่าย”     ดีสำหรับอดีต    แต่ปัจจุบันเราซอยย่อยมากเกินไป จนไม่เข้าใจภาพใหญ่    และสมัยนีเรามีเครื่องมือ ICT ช่วยการบูรณาการ    การบูรณาการศาสตร์จะช่วยให้เราทำความเข้าใจได้ ทั้งแนวลึกและแนวกว้าง     ช่วยให้เกิดปัญญา และมองเห็นได้ใกล้ “ความจริง” เข้าไป

ยุคที่ผ่านมา ศาสตร์ต่างๆ ยึดหลัก anthropocentric  คือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง     เวลานี้เรารู้แล้วว่ากระบวนทัศน์เช่นนี้ทำให้เรามีโลกทัศน์แคบ    จริงๆ แล้วมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ทั้งหมด” (the whole)    หรือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ในสายตาของผู้ไม่รู้อย่างผม ประวัติศาสตร์สมัยใหม่จึงน่าจะลดธรรมชาติ anthropocentric    เคลื่อนสู่ประวัติศาสตร์แนว “ภาพรวมนิยม” หรือ “holistic” (ผมคิดตั้งขึ้นเอง ไม่ยืนยันความถูกต้อง)

ความสนุกของผมในเรื่องวิชาการ คือหาทางคิดนอกกรอบ    ว่าวิชาการหรือศาสตร์ต่างๆ ควรแหวกแนว ออกไปจากจารีตเดิมอย่างไร    โดยไม่ลืมว่า ผลของการคิดแนวนี้ผิดมากกว่าถูก    แต่ผมเชื่อว่า มันจะนำไปสู่ ความก้าวหน้าทางวิชาการ    มิฉนั้น วงการวิชาการไทยจะย่ำเท้าอยู่กับที่

ไหนๆ ก็จินตนาการไปไกลแล้ว    ขอเลื่อนเปื้อนต่ออีกนิด

ดร. วินัยบอกผมว่า ท่านกำลังจะจัดทีมทำวิจัยประวัติศาสตร์การศึกษา     เพราะการศึกษาไทย มันล้าหลังเหลือเกิน     ผมดีใจจนเนื้อเต้น และบอกท่านว่า ผมสนใจมาก และจะจัดเวลาเข้าร่วมกระบวนการ ในฐานะคนนอกวงวิชาการประวัติศาสตร์ แต่สนใจเรื่องการศึกษา

กลับมาไตร่ตรองต่อที่บ้าน ผมคิดว่าสังคมไทยเราขาดวัฒนธรรมเรียนรู้ แบบที่มีการจัดระบบ มีการให้คุณค่าของระบบการเรียนรู้ของสังคม    ดังจะเห็นว่าระบบจดบันทึกเรื่องราวของบ้านเมือง ของจีนและของประเทศตะวันตก ดีกว่าของไทยอย่างเทียบกันไม่ติดเลย    คือเราเป็นวัฒนธรรมมุขปาฐะ ไม่ใช่วัฒนธรรมจดบันทึก    และไม่มีวัฒนธรรมวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวของบ้านเมือง    เพราะเกรงใจกัน เกรงจะกระทบกระเทือนตัวบุคคล หรือกระทบกระเทือนผู้สืบสกุล     การรวบรวมข้อมูลของบ้านเมือง เอามาวิเคราะห์ถกเถียงเพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำ    หรือเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการสร้างสรรค์ ในอนาคต จึงเกิดขึ้นยาก

ในฐานะที่เป็นผู้สูงอายุ เกี่ยวข้องกับวงการอุดมศึกษามาเกือบครึ่งศตวรรษ    ผมคิดว่า ควรมีการศึกษา ประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษา     เรื่องใหญ่ๆ ในบ้านเมืองทุกเรื่อง เมื่อเวลาผ่านไป ๓๐ ปีขึ้นไป ควรมีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

จำได้ว่า เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานจัดการประชุม COHRED เรื่อง  International Conferenceon Health Research for Development ที่โรงแรมแชงกริลา    มีคนมาประชุมจากทั่วโลก ๘๐๐ คน    ผมโชคดีมาก ได้รับเชิญเข้าร่วมด้วย    รายการวิจัยที่ผมประทับใจที่สุดคือ การวิจัยประเมิน การลงทุนสนับสนุนการวิจัยด้านสุขภาพ ของ USAID   มีศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เป็นนักวิจัย    ผมประทับใจมากที่ท่านนำเสนอโดยใช้คำศัพท์ต่างๆ คล่องแคล่วเหมือนคนในวงการสุขภาพ    และเข้าใจระบบ สุขภาพลึกซึ้งมาก    ที่สำคัญคือท่านใช้ระเบียบวิธีวิจัยด้านประวัติศาสตร์ในงานวิจัยประเมินผล

สรุปว่า ผมอยากเห็นทีม ดร. วินัยทำวิจัยประวัติศาสตร์การศึกษาของไทย

กลับมาที่เรื่องเวียดนาม    จากการฟังการนำเสนอของ ดร. วินัย ผมได้ความรู้ว่าสังคมเวียดนามเป็นสังคม ที่ถือสายแม่เป็นใหญ่ คือสืบสมบัติ โดยเฉพาะการถือครองที่ดินผ่านทางสายแม่ หรือสายผู้หญิง    ตรงข้ามกับจีน ที่ถือสายพ่อ หรือผู้ชาย เป็นใหญ่

ไม่ทราบว่า เป็นเพราะอารมณ์ชุมนุมต่อสู้ทางการเมืองหรือเปล่า ที่ทำให้ ดร. วินัยตั้งชื่อบทความ ของท่านว่า เอกภาพ เอกรัฐ อัตลักษณ์ และอัครบุรุษ กับเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นของเวียดนาม : คำประกาศ ปลุกขวัญทหารของจันฮุงเดาเวือง และ บิ่ญโงได่ก๊าว หรือมหาประกาศพิฆาตสยบหวู ท่านกล่าวในที่ประชุม ว่าคุณสุเทพควรศึกษาสุนทรพจน์ของจันฮุงเดา เอาไปร่างคำประกาศของ กปปส.    แต่ผมนึกในใจว่า คุณสุเทพควรเชิญ ดร. วินัย ไปเป็นทีมที่ปรึกษาวิชาการ

ข้อเรียนรู้สำคัญของผมอีกอย่างหนึ่งคือ ภาษาเวียดนามมีวรรณยุกต์ถึง ๘ ระดับเสียง    ในขณะที่ของไทย เรามี ๕ ก็นับว่ามากอยู่แล้ว    มิน่า เวลาฟังคนเวียดนามพูดเรารู้สึกว่ามีเสียงสูงๆ ต่ำๆ มาก

ผมได้รู้จักรัฐในหลายยุค คือ รัฐโบราณ  รัฐจารีต

รัฐโบราณ ขอบเขตอาณาจักรไม่ชัดเจน    ปกครองแบบกระจายอำนาจ    และพลังอำนาจอยู่ที่จำนวน ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมากกว่าขอบขัณฑสีมา     ในขณะที่รัฐจารีตปกครองแบบอำนาจรวมศูนย์    รัฐโบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉัยงใต้คือ พุกาม  พระนคร (เขมร)  และมัชปาหิต (หมู่เกาะอินโดนีเซีย)    ดำรงอยู่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑ - ๑๕    และรัฐจารีตดำรงอยู่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๕ - ต้นศตวรรษที่ ๑๙    ซึ่งตรงกับช่วงที่ชาติตะวันตกเข้ามา

ผมได้เรียนรู้ว่า วัฒนธรรมการปล้นสะดม ในสมัยก่อนถือเป็นเรื่องปกติ    เพราะเป็นยุค might is right ไม่มีใครเถียงได้    ไม่ว่าปล้นสะดมทางบกหรือทางทะเล    รวมทั้งวัฒนธรรม “ลักควาย” ของทางใต้ของประเทศไทยด้วย    ดังนั้นเรื่องโจรสลัดในหมู่เกาะ RiauArchipelago ทางใต้ของสิงคโปร์ในยุคนั้น จึงเป็นเรื่องปกติ    จากความร่วมมือระหว่างชาวเล ที่เรียก ออรัง ลาอุ๊ด กับสุลต่าน    ปล้นสะดมทั้งสินค้าในเรือ และจับคนไปขาย

ผมได้เรียนรู้ว่า ชาติแรกที่เข้ามาในเอเซียคือโปรตุเกส   เพราะพระปรีชาสามารถเห็นการณ์ไกล ของกษัตริย์และราชินี    แต่ก็อยู่ได้แค่ ๓๐ ปี เพราะเป็นชาติเล็ก พลเมืองน้อย    และใช้การจัดการแบบรวมศูนย์คือผูกขาดโดยราชสำนัก    จึงสู้ฮอลันดา ที่มีบริษัท VOC เป็นกลไกไม่ได้    มีการจัดการแบบกระจายอำนาจ และมีหลายหุ้นส่วน    บริษัท VOC เป็น MNC (Multi-National Corporation) แห่งแรกของโลก    แต่ก็หนีอนิจจังไม่พ้น คือล้มละลายในที่สุด

การเข้ามาของตะวันตกในสมัยรัฐจารีต ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือสังคมลูกผสม    ซึ่งเด่นที่สุดที่มะละกา และสิงคโปร์ก็จัดพิพิธภัณฑ์เปอรานากันไว้ให้คนได้เรียนรู้

วันที่ ๑๓ ก.พ. ๕๗ ลูกชายเอาหนังสือ ถอดรื้อมายาคติมาให้อ่าน    ในบทที่ ๒ ดร. เสกสรร ประเสริฐกุล เขียนเรื่อง มายาคติว่าด้วยชาติ และกล่าวว่ารัฐจารีตมีลักษณะ ๕ ประการ คือ  (๑) ไม่มีพรมแดนชัดเจน  (๒) รัฐกับสังคมไม่แยกขาดจากกัน  (๓) รัฐเป็นเครือข่ายของศูนย์อำนาจใหญ่-เล็ก  (๔) ไม่มีความยึดถือหรือรังเกียจ เรื่องชาติพันธุ์  (๕) รัฐมีบทบาทจำกัดมาก

ดร. เสกสรร กล่าวเช่นเดียวกันว่า รัฐจารีตไทยเป็นรัฐคุมกำลังคน ต่างจากรัฐยุโรปที่เน้นคุมเขตแดน หรือพื้นที่     ท่านยังกล่าวอีกว่า การปรับตัวของรัฐไทยจากรัฐจารีตสู่รัฐสมัยใหม่    ไม่ได้เปลี่ยนแบบถอนราก ถอนโคน    รัฐไทยสมัยใหม่จึงยังมีความเป็นจารีตอยู่มาก

 

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.พ. ๕๗  ปรับปรุง ๑๓ ก.พ. ๕๗

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 21:09 น.
 

เปลี่ยนรูปและยกระดับการศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพ ๑. หลักการทั่วไป และการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโดยทุกภาคส่วน

พิมพ์ PDF

องค์การอนามัยโลก จัดทำเอกสาร Transforming and Scaling Up Health Professional Education and Training : World Health Organization Guidelines 2013    เป็นเอกสารที่มีประโยชน์มาก

แต่ก็เป็นเอกสารที่ให้คำแนะนำอย่างเป็นกลางๆ สำหรับใช้ทั่วโลก    ประเทศไทยเราต้องเลือก และปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของเรา     ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องการให้เอกสารนี้นำไปสู่การกำหนดนโยบายของประเทศ และของภูมิภาค ด้านสุขภาพ การศึกษา การเงิน และแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องเชื่อมโยงกัน สู่ประเด็นบุคลากรสุขภาพ     โดยต้องตระหนักว่า เรื่องเหล่านี้มีความซับซ้อนมาก  มีความเป็นพลวัต เลื่อนไหลมาก    และเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่น หรือมีโลกาภิวัตน์

WHO อยากให้เอกสารนี้ นำไปสู่ policy dialogue ระหว่างหลากหลายภาคส่วนในประเทศ

ผมจึงถือโอกาสตีความเอกสารนี้ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ข้อดี หรือจุดแข็งของเอกสารขององค์การอนามัยโลกคือ เขาเขียนอย่างมีข้อมูลสนับสนุน    ไม่ใช่เขียนตามความคิดหรือความรู้สึก

เขาอ้าง World Health Report 2006 ว่ามี ๕๗ ประเทศที่ขาดแคลนบุคลากรสุขภาพอย่างรุนแรง    โดยที่เรื่องความขาดแคลนบุคลากรสุขภาพนั้น แทบทุกประเทศอยู่ในสภาพขาดแคลน    รวมทั้งประเทศไทย    แต่ที่ขาดแคลนอย่างหนักมี ๕๗ ประเทศ หรือกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนประเทศในโลก

จำนวนบุคลากรสุขภาพที่ต้องการเพิ่มทั่วโลก (ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖) คือ ๒.๔ ล้านคน    โดยเอกสารนี้ระบุ จำนวนรวมของบุคลากร ๓ ประเภท คือแพทย์ พยาบาล และผดุงครรภ์

คำว่าขาดแคลนบุคลากรสุขภาพ เป็นคำที่ซับซ้อนนะครับ คือไม่ได้มีความหมายเพียงขาดเชิงจำนวน เท่านั้น    ที่สำคัญยิ่งกว่าคือเชิงคุณภาพ ซึ่งหมายถึงชุดของทักษะ (skills mix) ของทีมสุขภาพ ที่สอดคล้อง (relevant) ต่อความต้องการ   และยังหมายรวม ถึงการกระจายบุคลากรไปตามชุมชนหรือท้องถิ่น อย่างเหมาะสมด้วย

เป้าหมายของนโยบายบุคลากรสุขภาพ คือสุขภาพดีของคนในประเทศ    เรื่องบุคลากรสุขภาพจึงเป็น means มากกว่าเป็น end    การดำเนินการนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องการศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพ จึงต้องมีเป้าหมายที่ระบบสุขภาพที่ดี    นำไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือผู้คนมีสุขภาพดี

โดยที่สุขภาพดี อยู่ในกำมือ หรือการดำรงชีวิตของตนเอง มากกว่าการพึ่งพามดหมอหยูกยา     และเมื่อมองในภาพรวมของผู้คนจำนวนมาก ระบบต่างๆ ในสังคม มีผลต่อสุขภาวะของผู้คนโดยที่เราไม่รู้ตัว    ซึ่งหมายความว่า การมีสุขภาพดี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมกว้างขวางซับซ้อนมาก     ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับระบบบริการสุขภาพเท่านั้น

เราต้องการจัดการศึกษา ให้ได้บุคลากรสุขภาพ ที่มีเจตคติต่อเรื่องสุขภาพแบบเป็นองค์รวม (holistic) อย่างที่ระบุข้างบน

หลักสูตรการศึกษา ต้องเป็น competency-based    โดยอิง comtetency ที่ต้องการสำหรับไปทำงาน ในระบบสุขภาพของประเทศ (relevance)    และเพื่อให้ได้บุคลากรไปทำงานในพื้นที่ที่ขาดแคลน และทำงานอยู่เป็นเวลานานหรือตลอดไป    สิ่งที่ต้องทบทวนคือเกณฑ์ในการรับนักศึกษา (admission criteria)    เกณฑ์แบบใครเก่งใครได้ เหมาะสำหรับจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ    แต่จะไม่สนอง การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองระบบสุขภาพ

หลักสูตรแบบที่เราคุ้นเคย เป็นแบบท่อเปิด ๒ ปลาย    คือตอนเข้าเรียน นศ. มาจากชั้น ม. ๖ ด้วยกันทุกคน    เรียนตามหลักสูตร ๔ ปี หรือ ๖ ปี ก็จบออกที่ปลายท่ออีกด้านหนึ่ง ออกไปทำงาน    แบบนี้เรียกว่า Tube Architecture เขาแนะนำให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่    ไปใช้แนวคิด Open Architecture คือ คนที่เข้าเรียนวิชาชีพ เช่นแพทย์ อาจไม่มาจาก ม. ๖ โดยตรง    บางคนอาจเป็นพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อยู่แล้ว     และตอนเรียน การเรียนก็ยืดหยุ่น แบบที่เรียกว่า individualized    คือไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนๆ กันทุกคน    เวลาที่ใช้เรียนก็อาจแตกต่างกันในบางคน

คือเปิดโอกาสให้บุคลากรสุขภาพ สามารถเปลี่ยนสายวิชาชีพได้

ผมนั่งพิมพ์บันทึกตอนที่ ๑ นี้ ที่ ล็อบบี้ของโรงแรมรามาการ์เด้นท์    เช้าวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วย การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพสุขภาพให้สอดคล้องกับ ความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย ซึ่งเป็นเวทีเพื่อ public policy dialogue ด้านสุขภาพ    ซึ่งมีสาระของประเด็นเชิงยุทธศาสตร์อ่านได้ ที่นี่

หลังจากนี้ผมไปเข้าประชุม    โดยนั่งสังเกตการณ์การประชุม อย่างสุขใจ    ว่านี่คือรูปธรรมของ policy dialogue ระหว่างหลากหลายภาคส่วนในประเทศ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา สำหรับบุคลากรสุขภาพ “ให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย”    ที่ ศ. ลินคอล์น เช็น เคยถาม  นพ. สุวิทย์ ว่าเราทำกันหรือเปล่า    คุณหมอสุวิทย์บอกว่า เราควรถ่ายรูปการประชุม ส่งไปให้ดู    ผมคิดว่า เราเอารูปและข้อสรุปขึ้นเว็บ เป็นภาษาอังกฤษ คู่กับภาษาไทย ดีกว่า

ทีมผู้จัดดีใจมาก ที่มีคนมาร่วมมากกว่าที่แจ้งความจำนง คือมา ๑๙๐ คน    และการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นในแต่ละกลุ่ม  (รวม ๗ กลุ่ม) เอาจริงเอาจังมาก     เป็น public policy dialogue forum ที่ healthy ยิ่ง

ในแต่ละกลุ่มมีคน ๓ ประเภท คือ ผู้บริหารหรือกำหนดนโยบาย, นักวิชาการ, และผู้แทนชุมชน     ผมคิดว่าคุณค่าที่สำคัญที่สุดที่ได้จากการประชุม ไม่ใช่สาระ    แต่เป็นปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนรับฟังซึ่งกันและกัน     ตัวสาระนั้น คณะทำงานปรับแล้วปรับอีก อาศัยความเห็นจากหลายเวที    กว่าจะนำเสนอเป็นเอกสารประเด็น เชิงยุทธศาสตร์ข้างบน ก็ได้ลงแรงกันไปมาก    สาระของการแก้ไขจึงไม่ใช่ภาพใหญ่ แต่เป็นการตกแต่งรายละเอียด หรือประเด็นปลีกย่อยมากกว่า

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.พ. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 21:15 น.
 

๖ นวัตกรรมสู่การเป็นประเทศแห่งการศึกษา ๒. เปลี่ยนวิธีคิด (๒)

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้มี ๑๐ ตอน   ที่ตีความจากการอ่านหนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools เขียนโดย Milton Chen

ใน Edge 1. The Thinking Edge : Getting Smarter About Learning   เสนอการเปลี่ยนวิธีคิดที่สำคัญ ๖ ประเด็น   ได้ย่อยและตีความมาเล่าในตอนที่ ๑ ไปแล้ว ๓ ประเด็น    ในตอนที่ ๒ นี้ จะเล่าอีก ๓ ประเด็น ได้แก่  (๔) ความเชื่อเรื่องความฉลาด  (๕) ให้อาหารสมอง และเฝ้าดูความงอกงาม  (๖) รณรงค์การเรียนจากการฝึกปฏิบัติ

 

ความเชื่อเรื่องความฉลาด ว่าพัฒนาได้

ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Growth Model of Intelligence    มีผลการวิจัย บอกว่า นักเรียนที่เชื่อว่า ความฉลาดเกิดจากความพยายาม มานะ อดทน มีผลการเรียนดีกว่านักเรียนที่เชื่อว่าความฉลาด เป็นสิ่งที่ติดตัวมา แก้ไขอะไรไม่ได้    และมีผลการวิจัยในนักเรียนกลุ่มหลัง (ระดับ ม. ต้น) ที่มีพื้นฐานทางครอบครัวและสังคมต่ำ รวมทั้งผลการเรียนก็ต่ำด้วย    แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง กับกลุ่มควบคุม (control)    นักเรียนทั้งหมดเรียนวิชา สรีรวิทยาของสมองกับทักษะการเรียนรู้ ช่วงละ ๒๕ นาที รวม ๘ ช่วง    ข้อแตกต่างระหว่างเด็ก ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองได้รับคำบอกซ้ำๆ ว่า    สมองและความฉลาดเป็นสิ่งที่ปรับตัวได้    คล้ายกล้ามเนื้อ ที่เมื่อออกกำลังสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อเจริญขึ้นเห็นชัดเจนด้วยตาว่ากล้ามใหญ่ขึ้น    สมองก็เป็นคล้ายกัน

นักเรียนทั้งหมดเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ที่สอนโดยครูคนเดียวกัน    และครูไม่ทราบว่า นักเรียนคนไหน อยู่กลุ่มใด

ตามปกติ ผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์จะตกต่ำลงในช่วง ม. ต้น เมื่อนักเรียนเรียนสูงขึ้น     แต่ผล การเรียนคณิตศาสตร์ในนักเรียนกลุ่มทดลองกลับดีขึ้น    ในขณะที่นักเรียนกลุ่มควบคุม มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ ตกต่ำลงเหมือนนักเรียนทั่วๆ ไป

ผู้วิจัยเสนอคำว่า neurological learning   อธิบายว่า ระหว่างเรียน หากนักเรียนคิดอยู่ในใจว่า ตนกำลังช่วยให้สมองเชื่อมเครือข่ายใยประสาทมากขึ้น     จะทำให้เกิดการกระตุ้นแรงจูงใจใฝ่เรียน

 

 

นักเรียนให้อาหารสมอง (ของตนเอง)  และเฝ้าดูความงอกงาม

ต่อเนื่องจากผลการวิจัยที่เล่าในตอนที่แล้ว ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ Mindset : The New Psychology of Success แนะนำวิธีฝึกให้นักเรียนกระตุ้นแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ของตนเอง

Milton Chen ถาม Carol Dwek ผู้เขียนหนังสือ ขอคำแนะนำต่อครูและพ่อแม่ในเรื่องนี้ และได้รับคำแนะนำว่า

  • สอนนักเรียนให้คิดถึงสมองคล้ายเป็นกล้ามเนื้อ ที่มีแรงมากขึ้นเมื่อใช้งาน    แนะให้นักเรียนจินตนาการว่า ทุกครั้งที่ตนเรียน สมองเกิดการเชื่อมต่อใยประสาท
  • เมื่อสอนเรื่องทักษะในการเรียนรู้    บอกนักเรียนว่า วิธีการตามที่กล่าวข้างบน จะช่วยให้สมองเรียนได้ดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงคำว่า ฉลาด โง่ เรียนเร็ว เรียนช้า ฯลฯ ที่สื่อว่าความฉลาดเป็นคุณสมบัติที่คงที่
  • ชมนักเรียนที่ความพยายาม, วิธีการเรียน, และความก้าวหน้า    อย่าชมความฉลาด    เพราะการชมความฉลาดจะทำให้นักเรียนกลัวความท้าทาย/สิ่งยาก    และเมื่อเผชิญสิ่งยาก จะคิดว่าตนโง่ และไม่สู้สิ่งยากนั้น
  • มอบงานท้าทายแก่นักเรียน    บอกนักเรียนว่างานท้าทายหรือสิ่งยากช่วยให้เรียนสนุก   ไม่ว่าความสำเร็จหรือความผิดพลาด เป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ทั้งสิ้น

 

Milton Chem ถาม Carol Dwek ต่อ ว่า ข้อค้นพบจากผลงานวิจัยนี้ มีความหมายต่อนโยบาย การศึกษา เพื่อสนับสนุนวิธีการสอนแนวดังกล่าว อย่างไร    ได้รับคำตอบว่า ผู้บริหารต้องมองว่า ตัวครูเองเป็นผู้มีศักยภาพ ที่จะพัฒนา เพื่อเติบโตในด้านความเป็นครู     ผู้บริหารต้องช่วยสนับสนุนให้ครูได้ใช้ความพยายาม เพื่อพัฒนา ตนเอง    โดยจัดให้มีพี่เลี้ยง (mentor) ในโรงเรียน ช่วยแนะนำส่วนที่ครูยังด้อย    ภายใต้ความเชื่อว่า ครูแต่ละคน มีทั้งส่วนดี และส่วนด้อย    และสามารถปรับปรุงแก้ไขส่วนด้อยได้    ครูควรได้รับการตอบแทนผลงาน สร้างความรักเรียน และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนกลุ่มที่เรียนอ่อน    ไม่ใช่เอาใจใส่แต่เด็กเรียนเก่ง    โรงเรียน/ผู้บริหาร ต้องจัดเวลาให้ครูได้ช่วยเหลือเด็กเรียนอ่อนเป็นพิเศษ เช่นมีเวลาให้สอนเสริมนอกเวลาปกติ

 

นอกจากนั้น ต้องปรับปรุงหลักสูตรและวิธีจัดการเรียน    โดยลดจำนวนวิชา และหัวข้อเรียนลง    เพื่อให้มีเวลาฝึกวิธีการเรียนรู้  และฝึกนักเรียนให้ประเมินความก้าวหน้า หรือความงอกงาม ในการเรียนรู้ ของตนเองเป็น

 

และเมื่อถาม Carol Dwek เรื่องบทบาทของเทคโนโลยี ต่อการเรียนของเด็ก     ได้รับคำตอบว่า    ได้พัฒนาวิธีฝึกเปลี่ยนวิธีคิด ต่อการเรียนรู้ เป็น คอมพิวเตอร์โปรแกรม ชื่อBrainology ที่มี ๖ โมดูล ของการเรียนรู้    ผลการทดลองใช้ในนักเรียนในมหานคร นิวยอร์ก ได้ผลดี

 

 

รณรงค์การเรียนจากการฝึกปฏิบัติ ไม่ใช่ท่องจำจากตำรา

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เขียนแบบสื่อกับคนอเมริกัน    ผู้เขียนจึงยกตัวอย่างที่คนอเมริกันเข้าใจง่าย    คือตัวอย่างการเรียนวิชาเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลล์ โดยการอ่านและท่องตำรา    ให้เด็กรู้ว่าการส่งลูก มีกี่แบบ ชื่ออะไรบ้าง    วิธียิงลูกเข้าห่วง มีกี่แบบ ฯลฯ    แต่นักเรียนเล่นบาสเก็ตบอลล์ไม่เป็น

ทำให้ย้อนกลับมาที่ จอห์น ดิวอี้ ที่เรียกร้องการเรียนจากการปฏิบัติตั้งแต่เมื่อปลายศตวรรษที่ ๑๙   บัดนี้เข้าต้นศตวรรษที่ ๒๑   หลักฐานผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เหนือการเรียนรู้จากการท่องจำ ความรู้ทฤษฎี เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้ว    ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์ใช้เวลากว่าร้อยปี ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ว่าด้วยการเรียนรู้    จากเน้นทฤษฎี สู่เน้นปฏิบัติ    หรือที่จริงแล้ว ต้องใช้ทั้งสองแนวให้เสริมพลัง (synergy) กัน

 

เรียนโดย นักเรียนตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัว    แล้วดำเนินการหาคำตอบ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 21:19 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๓. ชีวิตที่มีความหมาย

พิมพ์ PDF

วันที่ ๑๑ ก.พ. ๕๗ มีคนมาสัมภาษณ์เรื่องการพัฒนาครู    ในโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๖๑

ผมเสนอว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการพัฒนาครู คือการทำให้ชีวิตการเป็นครูเป็นชีวิตที่มี ความหมาย     เป็นชีวิตที่เมื่อสิ้นสุดความเป็นครูอย่างเป็นทางการ มองย้อนหลังสิ่งที่ได้ทำมาในชีวิต รู้สึกปลาบปลื้มใจ    ชีวิตครูมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีเช่นนั้นได้ทุกคน    แต่ระบบการพัฒนาครูที่ใช้มาในช่วง ๔๐ - ๕๐ ปีที่ผ่านมาเดินผิดทาง     ทำให้ชีวิตครูตกอยู่ในสภาพไร้ความหมาย ไร้ความภูมิใจ     เพราะผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษาตกต่ำ  และมีเยาวชนที่มีปัญหาความประพฤติเพิ่มขึ้นมาก

ครูตกเป็นเหยื่อของระบบที่ผิดพลาด    อาชีพที่ตามธรรมชาติเป็นอาชีพที่มีเกียรติสูง และเป็นชีวิตที่มีความหมาย    กลับตรงกันข้าม

ผมจึงเสนอต่อท่านที่มาสัมภาษณ์ว่า เป้าหมายหลักของการพัฒนาครูคือ (๑) ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (Learning Outcome) ที่มีคุณภาพสูง ของศิษย์    และ (๒) ชีวิตที่มีความหมายของครู

ในโลกยุคปัจจุบัน Learning Outcome ไม่ใช่ความรู้    ไม่ใช่รู้วิชา    แต่ต้องเลยไปสู่ทักษะในการใช้ วิชาความรู้ในชีวิตจริง     และทักษะที่สำคัญอื่นๆ ต่อการดำรงชีวิตที่ดี    ที่เรียกรวมๆ กันว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ครูต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑    และต้องเอื้ออำนวยให้ศิษย์พัฒนาทักษะชุดนี้ ขึ้นในตัว     โดยที่ครูไม่เน้นสอน ไม่เน้นถ่ายทอดความรู้

สถาบันพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา  ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่เราเรียกชื่อสั้นๆ ว่าสถาบันวัดไร่ขิง นั้น    ถือได้ว่าทำงานผิดพลาดมาตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี    คือพัฒนาครู แบบผิดๆ    จึงมีผลทำลายชีวิตครู ให้กลายเป็นชีวิตที่ไม่มีความหมาย     และทำให้ผลงานของครูมีคุณภาพต่ำ

กล่าวอย่างนี้ ไม่ยุติธรรม     เพราะความตกต่ำของครูอยู่ที่ระบบบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหลัก    รวมทั้งอยู่ที่วิธีการผลิตครูของคณะศึกษาศาสตร์-ครุศาสตร์ ด้วย

ที่กล่าวหาไม่ได้ต้องการตำหนิติเตียน    แต่ต้องการให้มีการแก้ไข    เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ในด้านปัญญา

ที่จริง ไม่ใช่ว่าชีวิตของครูไทยทั้ง ๖ แสนคน ไม่มีความหมาย     เรายังมีครูเพื่อศิษย์ ที่ทำหน้าที่ครู อย่างมีความสุข เอาจริงเอาจัง และเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง     ครูเหล่านี้คือคนที่ชีวิตมีความหมาย มีคุณค่า น่าภาคภูมิใจ

แต่ครูแบบนี้มีน้อยไป     และอยู่อย่างแปลกแยก ไม่เป็นกระแสหลัก

การพัฒนาครู ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เป็นนิสิตนักศึกษาครู หรือก่อนหน้านั้น    โดยต้องไม่หลงเน้นเฉพาะวิชา หรือความรู้     ที่ยิ่งใหญ่กว่าความรู้ คือคุณค่าภายในจิตใจ     เราต้องการครูที่รักเด็ก พร้อมที่จะช่วยเป็นกำลังใจ ให้ศิษย์ฟันฝ่าความยากลำบากของการเรียน     เพราะการเรียนที่ให้ปัญญาสูงนั้น ไม่มีทางราบรื่นสะดวกสบาย อยู่ตลอดเส้นทาง     นักเรียนนักศึกษาต้องได้ฝึกเผชิญความยากลำบาก     เพราะนี่คือบทเรียนจริงที่จะต้องเผชิญ ต่อไปในชีวิตจริง     ครูที่ช่วยให้ศิษย์ได้เรียนรู้ฝึกตนเป็นคนเต็มคน คือครูที่มีคุณค่า

การพัฒนาครูที่แท้จริง จึงต้องผูกพันอยู่กับการทำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์     “ผลงาน” ของครู คือศิษย์     ไม่ใช่กระดาษ อย่างที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 21:23 น.
 


หน้า 372 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8628909

facebook

Twitter


บทความเก่า