Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๗. ถอดรื้อมายาคติ

พิมพ์ PDF

ลูกชายเอาหนังสือ ถอดรื้อมายาคติมาให้     อ่านแล้ววางไม่ลง     ถูกจริตผม เพราะมันช่วยเปิดมุมมอง ใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย    ช่วยให้เราหูตากว้างขึ้น

หนังสือแบบนี้อ่านยาก หรือหนัก    แต่ประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง     เพราะมันชี้ให้เราเห็นความไม่ชัดเจน หรือข้อโต้แย้งต่างๆ ในสังคม     ให้เห็นที่มาที่ไปของประเด็นโต้แย้ง ที่ตกลงกันยาก หรือตกลงกันไม่ได้     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องดำเนินการต่อมา

ผมได้เข้าใจ จากบทความที่ถอดจากการบรรยายและซักถาม รศ. ดร. วรเจต ภาคีรัตน์  (หน้า ๘๘) เรื่อง ซีแอล ยารักษา เอ็ชไอวี/เอดส์     ที่มองที่ผลดีต่อผู้ติดเชื้อ ถือเป็นการกระทำที่เป็นสุดยอดความดี     มีคุณประโยชน์ ต่อสังคมไทย และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประเทศอื่นๆ     แต่ก็โต้แย้งได้ ว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลที่มาจาก การปฏิวัติ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว     เราสามารถยกเรื่องต่างๆ ในสังคมขึ้นมาถกเถียงได้มากมาย    โดยไม่สามารถหา ข้อยุติได้    แต่ทำให้เราฉลาดขึ้น เข้าใจความซับซ้อนของเรื่องต่างๆ มากขึ้น    และเห็นความเป็นมายาของโลก และชีวิตมากขึ้น    ว่ามันเป็นสมมติ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น    มนุษย์เป็นสัตว์ฉลาดล้ำ แต่ก็มีอคติแฝงอยู่ด้วย    มนุษย์จึงเต็มไปด้วยความผิดพลาด

ในการคุยกับลูกชาย     คนแคบอย่างผมจึงได้รู้เรื่องที่คนในสังคมเขาลือกันอื้ออึงตั้งนานแล้ว แต่ผมไม่ทราบ    คือเรื่องปราชญ์ใหญ่ในแผ่นดินหย่าเมีย เพื่อมาแต่งงานกับสาวลูกศิษย์     ซึ่งคงมีคนคลายหรือเลิก นับถือท่านไปมาก    แต่คนแก่อย่างผมคิดว่า นี่คือมนุษย์ ที่ทำผิดได้    แต่ถามว่าถ้าเป็นผม จะทำไหม ผมยืนยันว่าไม่

เห็นมิติของความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนไหมครับ     หนังสือ ถอดรื้อมายาคติ ว่าด้วยหลักการ    หรือ คำอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมด้วยมุมมองของศาสตร์ต่างๆ     แต่ในส่วนตัว การให้อภัย ให้ความเมตตา เห็นอกเห็นใจ ในความอ่อนแอบางจุดของเพื่อนมนุษย์ ก็ช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีได้    แต่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้อง ไม่ยึดติด    ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความดี จนเกินไป    ไม่เอามาตรฐานความดีที่เรายึดถือ ไปใช้ตีตราคนอื่น    หรือ เอาไปคาดคั้นคนอื่น ในเรื่องส่วนตัวของเขา

แต่ก็มีประเด็นว่า ความประพฤติปฏิบัติของตัวเรา อาจมีผลละเมิดผู้อื่น    อาจก่อความไม่สงบสุข ขึ้นในสังคม    การประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นย่อมเป็นสิ่งไม่ชอบ

จุดอ่อนที่สำคัญของมายาคติ คือมันกดทับหรือปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น    ทำให้สังคม ย่ำเท้าอยู่กับที่ และล้าหลัง ในภาคส่วน หรือประเด็นนั้นๆ    หรืออาจทำให้เกิดการขัดกัน หรือไม่สอดคล้องกัน ระหว่างส่วนของสังคม    ดุลยภาพเสียไป    เกิดความขัดแย้ง ซึ่งอาจลุกลามเป็นวิกฤติได้    ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

มายาคติ ทำให้ผู้คนมีความเข้าใจ หรือยึดถือสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่ต่างกัน    ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนถูก อีกฝ่ายเป็นผู้ผิด

แต่หากทำความเข้าใจตามหนังสือเล่มนี้ จะเห็นความซับซ้อนของสรรพสิ่ง และ “ความจริง” ทั้งหลาย     ได้เข้าใจว่า ไม่ว่าเรื่องใด “ความจริง” มีหลายชุด    และไม่มี “ความจริงแท้”    ความเชื่อในความจริงแท้ จึงเป็น มายาคติ     ไม้ใช่ของจริง

ชื่อหนังสือก็บอกอยู่แล้วว่า “ถอดรื้อมายาคติ”    อันเป็นชื่อที่ก่อกวนความยึดมั่นถือมั่นเดิมๆ    ยิ่งหัวข้อย่อยทั้ง ๗ หัวข้อ ยิ่งก่อกวนความรู้สึกคน    เช่นหัวข้อที่ ๖ เรื่อง มายาคติว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ โดย ศ. ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ยิ่งมีความล่อแหลม

หนังสือเล่มนี้ สำหรับอ่านแล้วได้รู้ว่ามีวิธีคิดแบบนั้นๆ อยู่ด้วย    ส่วนใหญ่เราไม่คุ้นเคย    และผมคิดว่าในความคิดเหล่านั้น ก็มีมายาคติอยู่ด้วย

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว    ผมเห็นว่า มายาคติเป็นสิ่งที่สอดแทรกอยู่ทั่วไป    รวมทั้งในอุดมคติ

คำเตือนโปรดเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 22:34 น.
 

คำนิยม-ครูเพื่อศิษย์

พิมพ์ PDF

คำนิยม

หนังสือ XXXX

วิจารณ์ พานิช

……………………

 

 

วาระสำคัญอันดับ ๑ ด้านการศึกษาของประเทศไทย คือการยกระดับคุณภาพ     ซึ่งเป้าหมายที่เป็น รูปธรรมคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (Learning Outcome) ของนักเรียน และบัณฑิต

ปัจจัยสำคัญอันดับ ๑ ต่อการบรรลุเป้าหมายนั้นคือ ครู    หรือกล่าวให้ชัดคือ คุณภาพครู     ครูที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเรียนรู้ของศิษย์     สำคัญกว่าหลักสูตร  สำคัญกว่า แทบเล็ต สำคัญกว่าการลดขนาดชั้นเรียน ฯลฯ

ครูที่ดี คือ ครูเพื่อศิษย์ เป็นครูที่มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อการเรียนรู้ของศิษย์     เป็นครูที่หมั่นศึกษาเรียนรู้ วิธีทำหน้าที่ครูยุคใหม่ ทำหน้าที่วางรากฐานชีวิตที่ดีของศิษย์

ดังนั้น เมื่อผมพบหนังสือ Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย ครู LouAnne Johnson  ผมจึงตีความเขียนลง บล็อก  GotoKnow.org เป็นบันทึกชุด จับความจากยอดครูฝรั่งนำมาฝากครูเพื่อศิษย์ เผยแพร่ระหว่างวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๔    ถึงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔   แล้วได้นำมารวมเล่ม ร่วมกับบันทึกอื่นๆ เป็นหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ ๒๑ พิมพ์ออกเผยแพร่ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๕ และเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง     ทั้งๆ ที่ต้นฉบับของหนังสือทั้งเล่มสามารถ ดาวน์โหลดฟรีได้ที่ http://www.noppawan.sskru.ac.th/data/learn_c21.pdf

ต่อมาตอนปลายปี ๒๕๕๖ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ขอนำข้อความในบันทึกเหล่านั้น ไปรวบรวมจัดพิมพ์ เป็นเล่มแยกต่างหากในชื่อ สอนนอกกรอบ : ยุทธวิธีจับใจศิษย์ เพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีก

บัดนี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดแปลหนังสือเล่มดังกล่าว     ออกเป็นหนังสือ xxxx    เพื่อเผยแพร่สาระดั้งเดิมของต้นฉบับ    ผมจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่สาระของหนังสือ ที่มีคุณค่ายิ่งเล่มนี้จะได้เผยแพร่ออกสู่สังคมไทย ทั้งฉบับแปลและฉบับตีความ    เพื่อกระตุ้นให้วงการศึกษาไทย ตื่นตัว ส่งเสริมให้ครูไทยศึกษาวิธีการทำให้ศิษย์จดจ่อ หรือสนุกอยู่กับการเรียน     อันเป็นแนวทางทำหน้าที่ครูยุคใหม่ … ครูแห่ง (คริสต) ศตวรรษที่ ๒๑

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว    ท่านจะเห็นคุณค่าของชีวิตครูที่สูงส่งยิ่ง    มีเหตุการณ์เรื่องราวที่เป็นรูปธรรม ให้เห็นว่าการเป็นครูที่ทุ่มเท มุ่งทำหน้าที่ ครูเพื่อศิษย์ นั้นให้ความสุขทางใจ อย่างยากที่จะได้รับจากอาชีพอื่น    และหากอ่านระหว่างบรรทัด จะเห็นว่า วิชาชีพครูเอื้อให้มีการเรียนรู้และปรับปรุงตนเอง     ดังตัวครูลูแอนน์เอง ก็เริ่มต้นชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ    เมื่อเข้าสู่อาชีพครู และได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ     นำมาปรับปรุงตนเอง      ชีวิตก็รุ่งโรจน์ เป็นผู้เขียนหนังสือขายดีจำนวนหลายเล่ม

ผมเชื่อว่า มีครูไทยจำนวนหนึ่งที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ ครูเพื่อศิษย์ อย่างไม่ท้อถอย (แม้ระบบการให้ความดี ความชอบครูจะไม่เอื้อ)     หากได้มีการเสาะหา และส่งเสริมให้ครูเหล่านั้น ได้ร่วมกันค้นคว้าทฤษฎี และเขียน หนังสือออกมาจากประสบการณ์ตรงของตน    ในทำนองเดียวกันกับที่ครู ลูแอนน์ จอห์นสัน เขียนหนังสือเล่มนี้  จะมีคุณประโยชน์ยิ่งต่อวงการศึกษาไทย

นอกจากนั้น หากจะส่งเสริมให้ “เกิดครูดีทั้งแผ่นดิน”    เราจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการให้คุณงาม ความดีแก่ครู    หรือระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพครู    โดยต้องเปลี่ยนมาผูกโยงความก้าวหน้าของครู และการยกย่องครู ไว้กับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์    ไม่ใช่ผูกโยงไว้กับ “ผลงานในกระดาษ” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตัวกระตุ้นให้เกิด “ครูดีทั้งแผ่นดิน” มีทั้งตัวกระตุ้นภายใน และตัวกระตุ้นภายนอก     ครูจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องมีตัวกระตุ้น ก็มีสำนึกภายในอยู่แล้ว มีการปฏิบัติตัวทำหน้าที่ ครูเพื่อศิษย์อยู่แล้ว     ครูเหล่านี้แหละที่ควร ส่งเสริมให้เผยแพร่อุดมการณ์และวัตรปฏิบัติของท่าน ผ่านการเขียนหนังสือเล่าเรื่องและตีความ    ดังตัวอย่างที่ครู ลูแอนน์ จอห์นสัน ทำ

การมีหนังสือทำนองนี้ และมีการสื่อสารการทำหน้าที่ครู ด้วยหัวใจความเป็นครูเพื่อศิษย์     และสื่อสาร คุณค่าของการเป็นครู  ที่มีส่วนคุณค่าและความสุขทางใจ ย่อมเป็นตัวกระตุ้นภายใน ให้เกิดขบวนการ “ครูดีทั้งแผ่นดิน”

เราต้องการกระตุ้นภายนอก ที่เวลานี้ชักนำไปผิดทาง     ให้เปลี่ยนมาเป็นระบบการบริหารจัดการครู ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ    ที่เอาผลงานจัดการเรียนรู้ที่ให้ผลสัมฤทธิ์สูง เป็นตัวตั้ง สู่การเลื่อนวิทยะฐานะ

หนังสือ xxxx เล่มนี้ เขียนแนะนำวิธีปฏิบัติตัวของครู     ที่มีรายละเอียดมากมาย    เป็นความรู้ที่มาจาก ประสบการณ์ตรงของผู้เขียน   ผมขอชี้ให้เห็นว่า ข้อความในหนังสือเป็นเรื่องราวที่ครู ลูแอนน์ นำมาจากประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งครู ลูแอนน์ เริ่มเป็นครูเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒    และหนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกจำหน่ายปี พ.ศ. ๒๕๔๘   ประสบการณ์ที่นำมาเขียน จึงน่าจะเก่ากว่า ๒๐ ปี  บรรยากาศการทำหน้าที่ครูจึงดูจะเน้นการเป็น “ครูสอน” มากไปหน่อย    เมื่อครูไทยยุคใหม่อ่านหนังสือเล่มนี้ พึงนำมาปรับ ให้เข้ากับการทำหน้าที่ “ครูฝึก” แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ให้เหมาะสม

ข้อสะกิดใจอีกประการหนึ่ง     ครู ลูแอนน์ เขียนหนังสือเล่มนี้ตามประสบการณ์ในโรงเรียนอเมริกัน    ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างกับไทยหลายด้าน     วิธีการบางอย่าง หากจะนำมาใช้ในบริบทไทย น่าจะได้พิจารณาปรับ ให้เข้ากับนักเรียนไทยเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ปรัชญาสั้นๆ ของครู ลูแอนน์ ตามในบทนำหน้าแรก ถูกต้องตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ สมัยใหม่     และผมเชื่อว่า เป็น อกาลิโก  และใช้ได้กับนักเรียนในทุกสังคม ทุกวัฒนธรรม    ข้อความนั้น กล่าวดังนี้

 

ถ้านักเรียนเชื่อว่าความสำเร็จเป็นไปได้ พวกเขาจะพยายาม

ฉะนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ฉันทำในทุกชั้นคือช่วยให้นักเรียน

มีศรัทธาในตัวเอง และเชื่อว่าตัวเองสามารถเรียนรู้ได้

 

ผมขอแสดงความชื่นชม ที่ สสค. ดำเนินการแปลและเผยแพร่หนังสือ xxxx เล่มนี้    และขอตั้งความหวัง ว่าการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้จะเป็นชนวน จุดประกายการเปลี่ยนแปลงวิชาชีพครู    ให้หวนกลับมาเป็นวิชาชีพ ที่สูงส่ง ได้รับความเคารพและมีคุณค่าสูงดังในอดีต    ผ่านการเปลี่ยนแปลงวิธีทำหน้าที่ครู    และเปลี่ยนแปลง ระบบความดีความชอบครู    เพื่อให้เกิด “ครูดีทั้งแผ่นดิน”

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 22:53 น.
 

ภาวะผู้นำ การพัฒนาบุคลิกภาพ และการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร (DSI)

พิมพ์ PDF

สวัสดีครับชาว Blog ทุกท่าน

วันพุธที่ 12 มีนาคม 2557 ผมได้รับเกียรติจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เป็นวิทยากรในการฝึกอบรมหลักสูตรพนักงงานสอบสวนคดีพิเศษ ในหัวข้อ ภาวะผู้นำ การพัฒนาบุคลิกภาพ และการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร ณ ห้องอัปสรา 1 โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

ภาวะผู้นำ การพัฒนาบุคลิกภาพ และการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร

โดย

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

และประธาน Chira Academy

ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง ห้องอัปสรา

12 มีนาคม 2557

อ.จีระ: ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ผมมาบรรยายให้ DSI ครั้งแรกเมื่อ 6 เดือนที่แล้วเมื่อวันที่27 มิ.ย. 56 ทุกท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.chiraacademy.com

1. กระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม

2. วัฒนธรรมองค์กรเป็นลักษณะCommand control

DSI ในอนาคตจะต้องข้ามศาสตร์

หลักสูตรนี้เน้นเรื่อง management ในอนาคตข้างหน้าความสามารถในการเรียนรู้ข้ามศาสตร์จะมีมากขึ้น และวันนั้นมีคนพูดถึง trust หน้าที่คือต้องสร้างศรัทธาให้แก่สังคม และสร้างความยุติธรรมให้แก่สังคม

3. สิ่งที่สำคัญ ในการพูดครั้งที่แล้ว คือ back to basics มนุษย์เราถ้าเราขาดคุณธรรม จริยธรรมเราก็เป็นคนที่แย่

การเป็นผู้นำ สิ่งที่สำคัญคือต้องมีคุณธรรม จริยธรรม

จุดแข็งของที่นี้ คือ เป็น multi skill

ทรัพยากรมนุษย์ของ DSI ต้องเหนือกว่าตำรวจ การที่เข้าอบรมหลักสูตรนี้คิดว่าเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง ใน 3 ชั่วโมงต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และพูดอย่างตรงประเด็น

คำที่สำคัญ คือ Leader และ Manager

Peter Drucker กล่าวว่า “Managing is doing things right, Leadership is doing the right things.”

George S. Patton: กล่าวว่า ภาวะผู้นำไม่ใช่แค่สั่งการเท่านั้น

การมีวิกฤติเรื่อง trust ในองค์กร หรือต่อชีวิตต้องเอาใจใส่และการเป็นผู้นำมักจะมาจาก crisis

การพัฒนาคนต้องใช้เวลาทั้งชีวิต

ผู้นำที่ดีต้องมีความสุข และภูมิใจที่ความสำเร็จเกิดขึ้น

วัตถุประสงค์หลัก

1.จับหลักการ ความสำคัญ why วิธีการ how และทำอย่างไรให้สำเร็จเรื่องภาวะผู้นำ การพัฒนาบุคลิกภาพ การสร้างผู้นำ และการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร ในองค์กรของเรา

2. ความรู้ เพื่อค้นหาตัวเอง ทำให้ความเป็นผู้นำของท่านสูงขึ้น และนำไปปฏิบัติได้

3. สร้างโอกาสจากการเรียนรู้ร่วมกัน

4. สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันต้องมีการdiversity สิ่งที่เป็นปัญหาในสังคมไทยคือไม่ใฝ่รู้

DSI ในอนาคตต้องมีความรู้มากมายในการแก้ปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น และอยากให้การเรียนมีความต่อเนื่อง

ขอฝากไว้ว่า ขอให้มีภาพ Macro มากๆ ว่าการที่จะเป็นผู้นำได้ต้องเข้าใจเรื่องดังต่อไปนี้

1.Information Technology เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่น ๆ เช่น Nanotechnology , Biotechnology

2.เรื่องการค้าเสรี , WTO , FTA, AEC 2015, ฯลฯ

3.เรื่องการเงินเสรี อัตราแลกเปลี่ยน

4.บทบาทของจีน อินเดีย ละตินอเมริกา และอาเซียน

5.เรื่องอิทธิพลของประชาธิปไตย และ human right

6.เรื่อง Global warming , ภัยธรรมชาติ

7.เรื่องสงคราม และการก่อการร้าย

8.เรื่องน้ำมันหมดโลก และพลังงานทดแทน

9.เรื่องโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก เอดส์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ฯลฯ

ในอนาคต DSI ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

จากยุคที่ 1 ยุคเกษตรกรรม สู่ยุคอุตสาหกรรม สู่ยุค Information Technology ปัจจุบันเรากำลังก้าวสู่ยุคที่ 4 หรือ Fourth Wave ซึ่งในอนาคตเราจะต้องเน้น

sustainability+ ความยั่งยืน

wisdom+

creativity+ ความคิดสร้างสรรค์

Innovation+ นวัตกรรม

intellectual capital. ปัญญา และต้องมีกรอบคุณธรรม และจริยธรรม

ผู้นำและผู้จัดการต่างกันอย่างไร

ผู้นำ ผู้จัดการ
•เน้นที่คน
  • Trust
  • ระยะยาว
  • What , Why
  • มองอนาคต ขอบฟ้า/ภาพลักษณ์
  • เน้นนวัตกรรม
  • Change
  • •เน้นระบบ
  • ควบคุม
  • ระยะสั้น
  • When , How
  • กำไร/ขาดทุน ทุก 3 เดือน
  • จัดการให้สำเร็จ มีประสิทธิภาพ
  • Static
  • เรื่อง Trust หรือ ศรัทธาของการเป็นผู้นำเกิดได้แก่ทุก ๆ คน ไม่ใช่แค่มีตำแหน่งเท่านั้น

    Trust คืออะไร? มีหลายคำจำกัดความ..แต่ในความเห็นของผมน่าจะแปลว่าคนในองค์กร/ชุมชน/สังคมเชื่อมั่น ศรัทธาและพึ่งพาในการกระทำในช่วงวิกฤติ และช่วงปกติที่จะนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน และคนในองค์กร/ชุมชน/สังคมมีความสุข

    Trust มี 3 ขั้นตอน ต้องสร้างและขยายหาศรัทธาหายไปจากสังคมต้องดึงศรัทธานั้นกลับ

    สร้าง (Grow)

    ขยาย (Extend)

    ดึงกลับ ถ้าหายไป (Restore)

    Trust มีหลายประเภท

    Self-Trust – ตัวเองต้องมีก่อน สัญญาจะทำอะไรกับตัวเองต้องสำเร็จตามสัญญา

    Relationship Trust – ความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร

    Organization Trust ความศรัทธาต่อองค์กร

    Social Trust เป็นศรัทธาจากสังคม

    หากมีโอกาส ต้องทำวิจัยว่าลักษณะผู้นำ วัฒนธรรมองค์กร เป็นอย่างไร อยากเห็น Organization research ใน DSI

    ประเทศไทยมีการวิจัยน้อยมาก ส่วนใหญ่ยกเป็นกรณีไป

    ตอนที่ผมทำงานที่ธรรมศาสตร์มีบุคคลทีน่าชื่มชมมาก คือ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ท่านปรีดี พนมยงค์ ท่านวรรณไวทยากร บุคคลเหล่านี้ดังเพราะได้รับการศรัทธาจากสังคม

    ตัวอย่างที่ดี คือ Hillaly Clinton ถึงจะพลาดตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ยังเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิต

    อย่าพอใจกับปริญญาเท่านั้น

    อย่าพอใจกับการเรียนในห้อง (Formal Learning)

    สนุกกับการคิดนอกกรอบ

    สนุกกับการคิดข้ามศาสตร์

    ถึงจะเก่งอย่างไร? ก็ต้องรับฟังคนอื่น

    DSI เป็นวิทยาศาสตร์

    6 of the Dalai Lama's Leadership Principles

    1.อย่าสั่งการ ต้องเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน

    2.ถ้าต้องการเรียนรู้อะไรบางอย่าง ต้องฟัง และค้นคว้าหาข้อมูล

    3.อย่าคิดว่าตัวเราคิดถูกทุกเรื่อง หากมีคนที่คิดไม่เหมือนเราซึ่งคุณคิดว่าไม่ถูกต้อง..ต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้

    4.มีอารมณ์ขัน อย่าโกรธง่าย รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

    5.สอนให้คนรู้จักคิด หาคำตอบได้ด้วยตัวเอง อย่าบอกคำตอบหรือหาทางออกให้ทุกเรื่องทุกเรื่อง

    6.มีความรับผิดชอบ

    คุณสมบัติของผู้นำของท่านผู้ว่าฯ เกษม จาติกวณิช หรือ “Super K”

    1. ผู้นำต้องมีความรู้

    2. ผู้นำต้องทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชารักและเคารพ

    3. ผู้นำต้องสร้างจิตวิญญาณในการทำงานเป็นทีม

    4. ผู้นำต้องรู้จักมอบหมายงาน

    5. ผู้นำต้องฟังความเห็นผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับ

    6. ผู้นำต้องรู้จักให้เกียรติผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่โอ้อวดและยกตนข่ม

    7. ผู้นำต้องมีความเมตตา โอบอ้อมอารีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา

    ทฤษฎีล่าสุดของ Jack Welch : Leader / Teacher การเป็นครูที่ดีต้องมาจากประสบการณ์ ของเรา แล้วต้องมาถ่ายทอดความรู้

    เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นตัวอย่างที่ดีใน DSI ว่าเราจะทำงานอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

    สิ จินผิงผู้นำของจีนรุ่นใหม่ ต้องจัดการเรื่องประชาธิปไตย

    หากท่านจะขึ้นไปเป็นผู้นำของ DSI ต้องฝึกและเรียนรู้ตลอดเวลา

    การจะเป็นผู้นำที่ดีคือ

    1. ความซื่อสัตย์

    2. โปร่งใส

    3. Grooming Future Leaders

    4. ต้องสร้างเครือข่ายและต้องเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ

    5. Balancing Style Leadership อย่าให้งานและครอบครัวขัดแย้งกัน

    6. Leadership of Diversity and Innovations ผู้นำที่ดีต้องบริหารความหลากหลายและไปสู่นวัตกรรม

    ทฤษฎี 5 E’s

    1. Example คือ เป็น/สร้างตัวอย่างที่ดีมีRole model

    2. Experience คือ สะสม/ถ่ายทอดประสบการณ์

    3. Education คือ ให้การศึกษา ให้ความรู้

    4. Environment คือ สร้างบรรยากาศที่ดี ต้องดูว่าสภาพแวดล้อมในองค์กรมันเอื้ออำนวยหรือไม่

    5. Evaluation คือ มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ได้รับโอกาสต่างๆในองค์กรหรือไม่

    การวิเคราะห์ของอาจารย์ที่ University of Washington ผู้นำจะต้องมี 4 วิธี

    1. ศึกษาความเป็นตัวตนของคนๆนั้น

    2. ต้องสร้างทักษะ การตัดสินใจ การเจรจาต่อรอง การทำงานเป็นทีม

    3. Leadership process คือ การมี Vision และมองอนาคตให้ออก

    4. Leadership value สำคัญที่สุดคือ Trust ความศรัทธาในผู้นำนั้น ๆ

    ภาวะผู้นำของ Peter Drucker

    1.Ask what needs to be done

    2.Ask what’s right for enterprise ถูกต้องสำหรับองค์กรหรือไม่

    3.Develop action plans

    4.Take responsibility for decision มีความรับผิดชอบ

    5.Take responsibility for communicating มีการสื่อสาร

    6.Focus on opportunities not problems มองหาโอกาส

    7.Run productive meetings

    8.Think and say We not I คิดเพื่อองค์กรไม่ใช่เพื่อตัวเอง

    Leadership roles ของศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

    1.Crisis management การจัดการภาวะวิกฤต

    2. Anticipate change คาดคะเนการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า

    3. Motivate others to be excellent การกระตุ้นผู้คนสู่ความยอดเยี่ยม

    4. Conflict resolution การแก้ไขความขัดแย้ง

    5. Explore opportunities การสร้างโอกาสแก่ผู้อื่น

    6. Rhythm & Speed รู้จักใช้จังหวะโอกาสและความ รวดเร็ว

    7. Edge ( Decisiveness ) กล้าตัดสินใจให้เร็ว

    8. Teamwork ทำงานเป็นทีม

    9. การบริหารความไม่แน่นอน

    Workshop

    กลุ่ม 1 คุณสมบัติที่พึงประสงค์ 5 ข้อ ของผู้นำทุกระดับใน DSI คืออะไรช่องว่างระหว่างที่เป็นอยู่และสิ่งที่ควรจะเป็นเท่าไหร่ (0-10)

    1.ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ การบริหารงานบุคคล ต้องมีการวางแผนงานและการสั่งการ ต้องเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องมีการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ คนเป็นผู้นำต้องแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน

    2. คิดนอกกรอบ บริหารจัดการกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง กล้าตัดสินใจในทุกๆเรื่อง รวมถึงการบริหารบุคคลในเรื่องบริหารงานบุคคล

    3. คุณธรรม จริยธรรม มีความโปร่งใส เท่าเทียมกัน

    4. ภาวะผู้นำ เรื่องของอารมณ์ผู้นำ

    5. ความสามารถในการกระตุ้นให้ผู้บังคับบัญชาสามารถทำงานเป็นทีม

    การให้คะแนน ให้ 7 คะแนน

    อ.จีระ: แต่ละข้อ relevance และรวบรวมมาดีมาก

    เพิ่มเติมจากโต๊ะ4 เสริมเรื่องให้ผู้บังคับบัญชารับฟังผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย

    อ.จีระ: ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว เรียนรู้จากประสบการณ์

    เพิ่มจากโต๊ะ 2: ความเป็นผู้นำขององค์กร อยากให้ปลุกฝังเรื่องวัฒนธรรมองค์กร หล่อหลอมให้ทุกคนมีความสามัคคี สิ่งที่จะแก้ไขระยะสั้นได้คือบทลงโทษ

    กลุ่ม 2วัฒนธรรมองค์กรที่ดี และวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดี 3 ข้อ

    วัฒนธรรมองค์กรที่ดี

    • -การทำงานเป็นทีมและเป็นสหวิชาชีพ
    • -เคารพรุ่นพี่ รุ่นน้อง
    • -การรักษาความลับของคดี

    วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดี

    • -แต่ละคนมีวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างกัน
    • -ขาดความชัดเจนในการบริหารงานบุคคล
    • -ระบบการลงโทษยังไม่ชัดเจน

    มีวิธีการแก้จุดอ่อนอย่างไร

    • -ต้องมีการละลายพฤติกรรม สร้างวัฒนธรรมองค์กรมาใหม่
    • -การจัดทำ KM การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง บอกอุปสรรคและพัฒนาเพื่อความสำเร็จ

    นำเอาส่วนดีมาปฏิบัติแล้วได้อะไร

    • -การที่ทางDSI เป็นสหวิชาชีพ

    วัฒนธรรมองค์กรเกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำอย่างไร

    • -ผู้นำขององค์กรเป็นคนเก่ง สามารถแก้ปัญหาได้ดี
    • -แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นด้วย

    อ.จีระ: ขอฝาก 3 ประเด็น

    ผู้นำในอนาคตต้องจัดการกับคน

    วัฒนธรรมองค์กรของมธ.มาจากประชาธิปไตย เปลี่ยนการปกครอง ให้คนมีส่วนร่วม

    คนที่ทำงาน HR ไม่ควรจัดการฝึกอบรมอย่างเดียว ควรมีการทำการวิจัยด้วย

    เรื่องการปลูก เก็บเกี่ยว ของ DSI เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้มีการทำงานส่วนรวม

    โต๊ะ 3 เสริม: เราทำงานกับภาคภาคีเครือข่าย และภาคประชาชน ส่วนที่สำคัญคือแหล่งข่าว อยากให้ทุกภาคส่วนเชื่อมโยง และเป็นวัฒนธรรมที่จะเกิดเป็นการเอื้ออาทร

    โต๊ะ4 เสริม: เห็นด้วยกับเรื่อง HR สิ่งที่เราจะเสริมในการทำงาน คือ ควรจะมี Career path และมีขวัญกำลังใจที่ดี

    โต๊ะ 1 เสริม: อยากเห็นการทำงานร่วมกันแล้วมีความสุขทุกสำนัก

    ต้องพยายามมองว่าเราเป็น DSI และต้องมีการฝึกอบรมร่วมกัน ผลิตบุคลากรของเราเอง

    อ.จีระ: เห็นชัดว่าต้องคิดร่วมกันเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เอาจุดดี จุดอ่อนมาวิเคราะห์ HR แบ่งเป็น HRD เรียกว่าเก็บเกี่ยว ต้องกระตุ้นให้มีความเป็นเลิศ

    กลุ่ม 3 เสนอแนวทางที่จะพัฒนาผู้นำใน DSI ที่ปฏิบัติได้ทุกระดับและเป็นไปได้ โครงการสร้างผู้นำในปัจจุบันเป็นอย่างไร ให้วิจารณ์

    ก่อนที่จะพัฒนาผู้นำทุกระดับต้องพัฒนาตัวเองก่อน ต้องสร้างผู้นำที่มีความคิดบวกในองค์กร ต้องมีความเชื่อมั่น และศรัทธาในวิชาชีพนี้

    DSI สร้างกฎหมาย ที่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ทันสมัยที่สุด เอาข้อดี ข้อเสียแต่ละหน่วยมาใส่ในพ.ร.บ. ซึ่งถ้ากฎหมายเราดี ต่อมาก็คือบุคลากร ที่ต้องขับเคลื่อนพัฒนาต่อไป บุคคลต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และต้องมีความซื่อสัตย์ ว่ากฎหมายนี้จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร ทั้งระบบทุนนิยม ซึ่งอาจแก้ไขได้ในเรื่องค่าครองชีพ

    บุคคลกรที่ต้องมีต่อไป คือ สิ่งเหล่านี้สร้างสมประสบการณ์และจะต้องถ่ายทอดต่อไป

    การสร้างผู้นำในปัจจุบัน คือ มีความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ ยึดหลักกฎหมาย นิ่ง และกล้าเผชิญปัญหา เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงความคิดเห็น จุดอ่อนที่ต้องทำต่อไปในอนาคต คือ การประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ

    อ.จีระ: ถ้าเราจะพัฒนาผู้นำเป็น E คือ Education ต้องมีการสร้างแบบอย่างที่ดีด้วย

    โต๊ะ 1 เสริม: ประชาสัมพันธ์เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง งบหมดไปกับเรื่องทำวารสาร กลุ่มเป้าหมาย คือ ต้องขายข่าว แยก 2 ส่วน คือ ภาพลักษณ์กลุ่ม ต้องมีการออกสื่ออย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

    การแจ้งข้อมูล ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องส่งข้อมูลให้ประชาสัมพันธ์

    โต๊ะ4 เสริม: แนวทางการพัฒนาผู้นำตอนนี้มีน้อยมาก เห็นว่าต้องมีหลักสูตรของทุกระดับ ท่เป็นหลักสูตรกลางที่ใช้ร่วมกัน

    โต๊ะ 2: เปรียบเหมือนแนวทหาร ที่ต้องสร้างเป็นระบบมากขึ้น

    กลุ่ม 4 ปัจจุบันมีผู้หวังดีต่อ DSI มองว่าองค์กรมีปัญหาเรื่อง trust (ศรัทธา) ต่อผู้นำระดับสูงของ DSI ท่านมีแนวทางดึงเอาtrust เหล่านี้กลับมาได้อย่างไร ก่อนที่ขวัญกำลังใจจะลดลงมากกว่านี้

    ต้องปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์ ให้เกิดเป็นความเชี่ยวชาญ ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่วิธี 2 มาตรฐาน ประชาสัมพันธ์คดีให้สังคมรับทราบ ในความคืบหน้าของคดี ทั้งทางโทรศัพท์ ทีวี

    การให้สังคมรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ก็จะทำให้สร้างศรัทธาขึ้นมาได้

    ต้องมีการพัฒนาบุคคลกรสม่ำเสมอ

    คำถามที่จะฝากไว้

    1. วันนี้มีอะไรใหม่ 1-2 เรื่องที่เกิด Impact ต่อเรา

    2. Impact กระเด้งต่อองค์กร DSI

    3.Impact ต่อประเทศชาติ

    ธนวรรณ อัคคพาณิช ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ DSI

    1. การสร้างศรัทธา เนื่องจาก งานที่รับผิดชอบ คืองานต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งสามารถสร้างศรัทธาให้แก่ DSI ได้ดี เนื่องจากภาพลักษณ์ในปัจจุบันจะเน้นในทางคดีที่อิงการเมือง

    2. ส่งผลต่อองค์กร โดยงานที่รับผิดชอบ คือ การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหลัก จึงควรได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าหน้างานของ DSI ไม่ใช่มีแต่คดีการเมืองเพื่อเรียกศรัทธากลับมาสู่กรม

    3. Impact ต่อประเทศ คือ สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ โดยเฉพาะผู้ที่เดือดร้อน ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

    ความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรม

    1. สะท้อนให้เห็นถึงว่าข้าราชการในกรมสอบสวนบางส่วนยังขาดระเบียบวินัยและคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันในองค์กร

    2. ส่งผลต่อ DSI คือทำให้ควบคุมข้าราชการได้อย่างยากลำบาก

    3. ทำให้การทำสำนวนของคดีพิเศษต่างๆขาดความเป็นมาตรฐานเดียวกัน ประชาชนขาดความเชื่อมั่น

    ความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรม

    1. การปฎิบัติตัวในภาวะวิกฤติ ที่ต้องสร้างความเชื่อถือ ศรัทธา ให้เกิดขึ้นจากประชาชนและคนในสังคมไทย

    2. ส่งผลให้ DSI มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการปฎิบัติงานที่ต้องทำให้ประชาชนยอมรับ

    3. ทำงานในหน้าที่รับผิดชอบให้เต็มที่ เมื่อไปรวมกับชรก.ท่านอื่นๆ จะทำให้ขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้

    ความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรม

    1. การรับฟังผู้อื่นที่ไม่ยึดตัวตน ทำให้เราไม่มีความยึดติดในคำว่า ตัวกู ของกู ทำให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

    2. เมื่อเรารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ก็จะทำให้งานที่ทำออกมาดี ยุติธรรม มีคุณธรรม ซึ่งส่งผลต่องานของ DSI

    3. เมื่องานของ DSI ออกมายุติธรรม คุณธรรม ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่งคนใดแต่อย่างใด

    ความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรม

    ข้อ 1,2,3 ทำให้ทราบว่าการเป็นผู้นำที่ดีนั้น นอกจากจะมีความรู้ควาสามารถแล้ว ต้องรุ้จักรับฟังความเห็นของผู้ใต้ยังคับบัญชา มีเมตตา โอบอ้อม อารี เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอความเห็นใหม่ๆซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาให้บุคลากรเกิดภาวะผู้นำทั้งในระดับ DSI และระดับประเทศต่อไป

    ความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรม

    1. การเป็นผู้นำที่ดีต้องมอบหมายงานสำหรับให้เด็กรุ่นใหม่ทำ

    2. ในการพัฒนาองค์กร ให้มีบุคลากรให้มีความสามารถมากขึ้น

    3. เพื่อทำให้ประเทศได้มีคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรม

    จากการรับฟังบรรยายได้เกิดการจุดประกายว่าทุกคนมีหน้าที่ในการดำเนินชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องการสุข เกลียดทุกข์ มีหน้าที่ดำเนินชีวิต แค่เราทำหน้าที่ในการพัฒนาชีวิตไปสู่ด้านดีจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของตนเอง หน่วยงาน และประเทศได้หากเราคิดจะพัฒนาตนเอง

    ความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรม

    1. วันนี้มีอะไรใหม่ๆเข้ามา คือ เรื่องการเรียนรูี้ตลอดเวลา

    2. มีผลกระทบเข้าสู่องค์กรคือ ทำให้บุคลากรในองค์กรได้รับความรู้อยู่ตลอดเวลา มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ทำให้องค์กรชั้นนำสู่ความเป็นเลิศ

    คุณอุมาพร

    สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ได้เรียนรู้ถึงการเป็นผู้นำที่ดีในอนาคตว่าควรจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และพวกเรามีภาวะผู้นำที่พึงประสงค์ ย่อมจะนำพาองค์กร DSI ให้สามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมาย สามารถเป็นที่เชื่อถือศรัทธาและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป

    คุณอำนวยชัย โฆษิตพาณิชยกุล

    1. สิ่งที่เป็น impact ต่อตนเอง คือการได้ทราบถึงจุดดี จุดด้อย ขององค์กร และสิ่งที่คนคาดหวังจากผู้นำองค์กรทำให้สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมใการทำงานต่อไปในอนาคต

    2. impact ต่อองค์กร ก็คือคนที่เข้ารับการอบรมสามารถนำไปใช้ในการทำงาน

    3. impact ต่อประเทศ ก็คือเมื่อนำความรู้เหล่านี้มาปฏิบัติงาน ก็ยอมส่งผลต่อการทำงานและส่งผลต่อประเทศชาติ

    นางสาวพรรษมน พรหมประพันธ์

    1. Impact ต่อตัวเรา คือ ได้ความรู้ใหม่ๆที่อาจารย์จีระสอน และนำภาพลักษณ์ของคนอื่นที่มีความรู้ ความสามารถมาเป็นตัวอย่าง

    2. Impact ต่อองค์กร ในฐานะที่เป็นบุคลากร เพื่อนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ เป็นที่พึ่งของประชาชน

    3. เมื่อองค์กรเป็นเลิศ จะทำให้ประเทศเจริญ พัฒนาองค์กรและเป็นที่พึ่งพาของประเทศ

    คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/563716

    แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 23:16 น.
     

    ๖ นวัตกรรมสู่การเป็นประเทศแห่งการศึกษา ๓. หลักสูตร

    พิมพ์ PDF

    บันทึกชุดนี้มี ๑๐ ตอน   ที่ตีความจากการอ่านหนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools เขียนโดย Milton Chen

    บันทึกตอนที่ ๓ นี้ ตีความจาก Edge 2. The Curriculum Edge : Real Learning and Authentic Assessment

    คำตอบสั้นๆ สำหรับหลักสูตรการศึกษาคือ ต้องเปลี่ยนไปเป็นหลักสูตรบูรณาการ ที่เรียนแบบโครงงาน (Project-Based Learning – PBL)    โดยครูชวนนักเรียนตั้งคำถามที่ซับซ้อน เพื่อหาประเด็นที่ท้าทาย    ให้นักเรียน ร่วมกันตัดสินใจเลือกมาเป็นหัวข้อของโครงงาน   ที่ในกระบวนการทำโครงงาน นักเรียนได้เรียนทั้งสาระวิชา และทักษะสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑   เมื่อจบโครงงาน ได้ผลงานที่ใช้การได้จริง  นักเรียนได้ นำเสนอกระบวนการทำงานในโครงงาน    และได้ร่วมกันสะท้อนความคิด ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง ที่จะเป็นฐาน สำหรับการเรียนรู้ขั้นต่อไป และสำหรับใช้ในการดำรงชีวิตในภายหน้า

    คู่มือครูสำหรับการจัดการเรียนรู้แบบ PBL ได้แก่ PBL Handbook ของ Buck Institute for Education ซึ่งส่วน Introduction สามารถ ดาวโหลด ฟรี ได้ ที่นี่ และหนังสือ Reinventing Project-Based Learning

    คำแนะนำสำคัญคือ ต้องไม่จัดการเรียนรู้แบบ PBL เสริมหลักสูตรแบบเดิม    ต้องเปลี่ยนหลักสูตรเป็น PBL ทั้งหมด    รวมทั้งต้องเปลี่ยนการประเมินให้เป็นแบบ Authentic Assessment และ Competency-Based Assessment   โดยเรื่องการประเมินจะกล่าวในบันทึกชุดนี้ตอนที่ ๔

    ผลการวิจัยที่สนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ PBL ว่าให้ผลดีกว่าการจัดการเรียนรู้แบบเดิม (conventional) มีมากมาย    เขาอ้างถึงหนังสือ Powerful Learning : What We Know About Teaching for Understanding ซึ่งสรุปได้ว่า

    ๑. นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกกว่า เมื่อเขาประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนในห้องเรียน เข้ากับปัญหาในชีวิตจริง    และเมื่อเขาได้นำมาใช้ในโครงงานที่ต้องใช้ความพยายามต่อเนื่อง และร่วมเป็นทีมกับเพื่อน

    ๒. การเรียนแบบ Active Learning เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อสมรรถนะของนักเรียน    สำคัญกว่าพื้นฐานทางสังคมของนักเรียน   และสำคัญกว่าผลการเรียนในอดีต

    ๓. นักเรียนจะเรียนได้ดียิ่งขึ้น หากได้เรียนวิธีเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการเรียนเนื้อหาวิชา

     

    ปัญหาของการจัดหลักสูตรที่สำคัญอยู่ที่การยึดติดกับหลักสูตรแห่งอดีต    ที่คิดว่าจะต้องปูพื้นฐานวิชาอย่างเป็นขั้นตอน   แต่ผลการวิจัยสมัยใหม่บอกว่า การเรียนแบบบูรณาการหลายวิชา ได้ผลดีกว่า เช่นการเรียน STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics)    การเรียนวิทยาศาสตร์บูรณาการไปกับมนุษยศาสตร์    และการเรียนแบบลงมือปฏิบัติ ใน PBL (เรียนรูปธรรมจากการปฏิบัติ)   แล้วจึงไตร่ตรองสะท้อนความคิด (reflection) เพื่อเรียนรู้ส่วนนามธรรมของวิชา    จะได้ผลดีกว่า

     

    ผมตีความว่า หลักสูตรสมัยใหม่ต้องเรียนแบบเรียงลำดับการเรียนรู้ใหม่    จากเดิม ปริยัติ - ปฏิบัติ - ปฏิเวธ   เรียงลำดับการเรียนรู้ใหม่เป็น ปฏิบัติ - ปฏิเวธ - ปริยัติ

    หลักสูตรสมัยใหม่ ต้องมองนักเรียนเป็น “ผู้สร้างสรรค์” มากกว่าเป็น “ผู้รับถ่ายทอด” ความรู้    โดยครูต้องมุ่งเปิดโอกาสและกระตุ้น ให้นักเรียนปลดปล่อยความสร้างสรรค์ออกมา     จะพบว่านักเรียนมี ความสร้างสรรค์มากกว่าที่ครูเคยคิดมาก

    นวัตกรรมของหลักสูตรมีได้มากมาย    ในหนังสือ เขายกตัวอย่างหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือ ระหว่างโรงเรียน วิทยาลัย และสถานที่ทำงานเรียกว่า Career Academy ทำให้หลักสูตรการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของนักเรียน คือชีวิตการทำงาน    การริเริ่มทำนองนี้ในประเทศไทยก็มี    เราเรียกว่าหลักสูตรมัธยมสายอาชีพ    ซึ่งผมบันทึกไว้ ที่นี่

    ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการจัดหลักสูตรและการเรียนรู้สมัยใหม่    คือต้องใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้มาก    แทนที่จะเรียนแบบเน้นตำรา เน้นตัวหนังสือ    ให้หันไปเน้น อินเทอร์เน็ต (เขาใช้คำว่า Internet-ional)  และเน้นภาพ แผนภูมิ และภาพเคลื่อนไหวหรือวีดิทัศน์ให้มากขึ้น     เพราะเด็กสมัยใหม่จะคุ้นมากกว่า

    เป้าหมายของการศึกษาต้องเพื่อการพัฒนาทั้ง “สมอง และหัวใจ”    คือทั้งเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ และให้เป็นคนมีจิตใจดี   มีพัฒนาการครบทุกด้านของพหุปัญญา ของ Howard Gardner

     

     

    วิจารณ์ พานิช

    ๖ ธ.ค. ๕๖

     

    บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

    แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 23:23 น.
     

    สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๒. เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (๑) ต่อต้านวัฒนธรรมแห่งความโหดร้ายรุนแรง

    พิมพ์ PDF

    บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

    ตอนที่ ๑๒ นี้ ตีความจากบทที่ ๖How Do You Think That Makes Him/Her Feel? Stretching Young Minds and Hearts to Empathize   โดยที่ในบทที่ ๖มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๒จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒     ในบันทึกที่ ๑๓จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

    ทั้งบทที่ ๖ ของหนังสือ เป็นเรื่องการฝึกลูก/ศิษย์ ให้รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathize)   ไม่ดำเนินตามวัฒนธรรมโหดร้ายทารุณ ที่กำลังครองโลกอยู่ในปัจจุบัน   ให้คนรุ่นใหม่กล้าออกมาต่อต้านวัฒนธรรมชั่วร้ายนี้   โดยฝึกลูก/ศิษย์ ให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น   เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

    ในตอนที่ ๑ เด็กที่หัวใจแตกสลาย ผู้เขียนเอ่ยถึงกรณีวัยรุ่นถูกระรานทาง อินเทอร์เน็ต จนฆ่าตัวตาย   โดยที่ผู้ทำไม่คิดอะไรมาก   ระรานเพื่อความสนุกของตนเอง    ไม่สนใจว่าจะทำให้เหยื่อเกิดความเครียดหนัก    ถึงกับฆ่าตัวตาย   คนเหล่านี้เอาสนุกของตนโดยไม่เห็นใจคนอื่นที่ตกเป็นเหยื่อ

    จึงมีขบวนการต่อต้านวัฒนธรรมแห่งความโหดร้ายนี้ในสหรัฐอเมริกา เช่น ที่นี่

    พ่อแม่/ครู ควรถามเด็ก ว่าเด็กนิยามพฤติกรรมโหดร้ายเห็นแก่ตัวอย่างไร   ชวนเด็กทบทวนว่าตนเคยแสดงความโหดร้ายต่อคนอื่นเมื่อไร อย่างไร    และตนเคยโดนคนอื่นแสดงความโหดร้ายอย่างไร   ชวนคุยเรื่องการระรานกันทางอินเทอร์เน็ต    ว่าทำไมคนเราจึงระรานกันทางอินเทอร์เน็ตได้ง่ายกว่าเมื่อเผชิญหน้ากัน    ชวนคุยว่า เมื่อมีคนระรานตน เธอจะทำอย่างไร    และเด็กมีวิธีแยกแยะระหว่างการหยอกล้อ กับการระรานอย่างไร    และต้องทำความเข้าใจกับลูก/ศิษย์ ว่าความโหดร้ายรุนแรง ไม่ว่าในรูปแบบใด เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

    คำถามของหนุ่ม ๑๕ “ผมเป็นคนอ่อนไหว    คนเขาว่าผมหน้าตัวเมีย   เขามักบอกผมว่า อย่าพูดอย่างนั้น  อย่านั่งอย่างนั้น   ผู้คนไม่สนใจผมตั้งแต่ผมอายุ ๑๐ ขวบ   ตอนนี้น้องสาวอายุ ๘ ขวบ และพ่อแม่หยาบคายกับเธอมาก   ผมรู้สึกได้จากแววตาของเธอว่าเธอว้าเหว่ ไม่มีเพื่อนเล่นด้วย   ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องโง่เง่า ที่ผมรู้สึกเจ็บปวดไปกับเธอ และไม่อยากให้เธอต้องเผชิญชตากรรมเหมือนผมอีก”

    คำตอบของผู้เขียน “ไม่เป็นเรื่องโง่เง่าเลย ที่เธอรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น   แต่กลับเป็นสัญญาณของความมีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจคนอื่น   เธอเป็นคนมีเมตตากรุณา    น้องสาวของเธอโชคดีมากที่มีพี่ชายอย่างเธอ   เธอบอกว่าเธอทนไม่ไหวที่เห็นน้องสาวเศร้าสร้อย    จงอย่าแค่เห็นใจ จงทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยน้องสาว    พูดกับพ่อแม่อย่างสงบและอย่างเคารพ ว่าเธอสังเกตเห็นอะไร   เมื่อเห็นน้องสาวเหงา หรือเมื่อน้องสาวโดนพ่อแม่แสดงความโหดร้าย  ก็ขอให้เข้าไปพูดคุยกับน้อง   เพื่อให้น้องรู้สึกว่าตนยังมีพี่เป็นเพื่อน ที่เห็นอกเห็นใจและคอยช่วยเหลือทางใจ   การทำหน้าที่พี่ที่น้องมองเป็นฮีโร่จะเป็นคุณแก่ตัวเธอเอง    ช่วยให้เธอมีความเข้มแข็งมั่นใจตนเอง   และเกิดความเข้าใจ/พร้อมที่จะยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง”

    ตอนที่ ๒ พ่อชั้นเลว เป็นเรื่องของพฤติกรรมของพ่อลูกที่ร้านอาหารสะดวกซื้อ ที่ผู้เขียนไปประสบ    สะท้อนภาพการเลี้ยงลูกไม่เป็นของพ่อแม่    หรือร้ายกว่านั้น การที่พ่อแม่ส่งสัญญาณผิดๆ ต่อลูก    ทำให้ลูกเพาะพฤติกรรมไม่ดีคือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงโดยที่ไม่ได้มีอารมณ์โกรธแต่อย่างใด ติดตัวเป็นนิสัย

    ผู้เขียนแนะนำพ่อแม่/ครู ให้ไม่เอาใจใส่พฤติกรรมไม่ดี   เอาใจใส่พฤติกรรมดีและยกย่องทุกครั้งที่พบเห็น

    และแนะนำให้ผู้ใหญ่ควบคุมอารมณ์เมื่อพบห็นพฤติกรรมไม่ดีของเด็ก   เพื่อจะได้ทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมนั้นเกิดจากอะไร    และการควบคุมอารมณ์โกรธเกรี้ยวนี้ จะเป็นแบบอย่างแก่เด็ก ว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่เขาสามารถดำรงความมีเหตุผลและความเห็นอกเห็นใจ แม้จะมีคนมากวนโมโห    แต่ก็ต้องส่งสัญญาณต่อเด็กเป็น ว่าพฤติกรรมแบบไหนไม่พึงประสงค์ และเด็กต้องหยุด   ไม่ใช่เมื่อเด็กเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พ่อกลับยิ้มให้และแสดงท่าทีเอ็นดู อย่างที่พ่อชั้นเลวทำ    จนลูกชักแรงขึ้นเรื่อยๆ พ่อก็แสดงความโมโหและทำท่าจะลงมือลงไม้   แต่ก็ไม่กล้าทำในที่สาธารณะที่มีคนจ้องมองอยู่มากมาย

    ที่จริงพฤติกรรมทุกแบบของเด็ก เป็นการทดลองและเรียนรู้ของเด็กทั้งสิ้น   และเป็นโอกาสที่พ่อแม่/ครู จะสอนเด็ก ให้ได้เรียนรู้วิธีเป็นคนดี   ดังนั้นเมื่อเด็กทำผิด ครู/พ่อแม่ ก็ต้องบอกว่าผิด ไม่ควรทำอีก   รวมทั้งหาวิธีให้เด็กได้เข้าใจเองว่าทำไมสิ่งนั้นจึงผิด   และผมขอเพิ่มเติมว่า เมื่อปีครึ่งมาแล้ว ผมไปเยี่ยมชมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ผมประทับใจมากที่ทางโรงเรียนฝึกครู ๑ ปี ให้ไม่ขึ้นเสียงหรือดุเด็ก   แต่ฝึกตั้งคำถามแก่เด็ก เพื่อให้เด็กได้คิด และรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด   เมื่อเด็กทำผิดครูก็ไม่ดุ แต่จะชวนเด็กคุยโดยครูตั้งคำถาม จนเด็กรู้ไปเองว่าที่ตนทำนั้นผิด   ทีหลังต้องไม่ทำอีก   อ่านความประทับใจของผมได้ ที่นี่

    วิธีต่อต้านวัฒนธรรมแห่งความโหดร้ายได้ดีที่สุดคือการสร้างวัฒนธรรมแห่งความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน   โดยที่เด็กต้องได้รับเกียรติเช่นเดียวกัน   นั่นคือลู่ทางที่เด็กจะเรียนรู้การให้เกียรติซึ่งกันและกัน

    ผู้เขียนแนะนำให้ทุกคนในครอบครัวมานั่งประชุมตกลงกัน ยกร่างกติกาของการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันในบ้าน   โดยคุยกันให้ชัดว่า กติกาเดียวใช้กับทุกคนในบ้านหรือไม่    โดยต้องไม่ลืมว่า บ้านไม่ใช่ที่บังคับใช้ประชาธิปไตยแบบที่ทุกคนเท่าเทียมกันหมด    เพราะพ่อแม่ยังต้องเป็นผู้นำในบ้าน   และลูกก็ยังอยู่ระหว่างการฝึกฝนความเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบตัวเองได้ทั้งหมด

    คำถามของครูของลูก “ลูกสาวอายุ ๑๔ เป็นที่ชื่นชมในโรงเรียนว่าเป็นเด็กดี   แต่ที่บ้านกลับเป็นคนละคน   เธอต่อต้านพ่อแม่ ว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดเป็นเรื่องไร้สาระ หรือโง่เง่า    จนบางครั้งแม่ไม่อยากพูดด้วย   พ่อแม่ตักเตือน ก็ดีขึ้นช่วงสั้นๆ   แล้วก็กลับไปใช้คำพูดเสียดสีอย่างเดิม เหมือนกับว่า เธอไม่สามารถควบคุมตนเองได้   เราอยากให้ลูกพูดกับพ่อแม่อย่างเคารพ จะทำอย่างไรดี”

    คำตอบของผู้เขียน “คุณพูดว่า ลูกสาวดูเหมือนไม่สามารถวบคุมตนเองได้   นั่นเป็นความจริงสำหรับเด็กอายุ ๑๔   ที่ควบคุมตัวเองได้ยากมาก   เพราะเธอกำลังต่อสู้กับตัวเอง เพื่อสร้างความเป็นตัวตนของตนขึ้นมา    และเพื่อเป้าหมายนั้น เธอจึงต้องสร้างระยะห่างจากพ่อแม่   โดยการไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่องที่พ่อแม่ว่า    เมื่อคุณบอกให้ทำอะไรก็ตาม เธอจะรู้สึกว่าการต้องทำตามที่พ่อแม่สั่ง ทำให้เธอเป็นเหมือนเด็กเล็ก   พ่อแม่ควรเข้าใจว่า ความหยาบคายของเด็กวัยทีน เป็นตัวบอกความอ่อนเยาว์วุฒิภาวะของตัวเธอ

    สภาพเช่นนี้จะค่อยๆ หายไปเอง    พ่อแม่ช่วยได้โดยการสงบสติอารมณ์ (แม้จะทำได้ไม่ง่าย)   แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องยอมให้ลูกสาวแสดงความไม่เคารพพ่อแม่

    แนะนำให้คุยกับลูกดีๆ ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ   เริ่มด้วยการขอโทษลูก   ว่าที่แม่ปล่อยให้ลูกพูดจาเสียดสีพ่อแม่นั้นเป็นการทำผิดในฐานะแม่   ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือให้ลูกเติบโตเป็นคนดี   การที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกแสดงพฤติกรรมไม่ดีนั้น ถือเป็นความผิดของพ่อแม่ เป็นการทำร้ายลูก    ดังนั้นต่อไปนี้เรามาตกลงกันว่า ลูกจะต้องไม่แสดงพฤติกรรมไม่ดีอะไรบ้าง    ถ้าแสดงออกมาจะได้รับผลอย่างไร   เช่นถูกริบโทรศัพท์มือถือ ๑ วัน หรืออย่างอื่นที่แม่รู้ว่ามีความกมายต่อลูก    แล้วแม่ก็คอยเฝ้าดู   หากลูกทำผิดสิ่งใด ก็ได้รับผลตามที่ตกลงกัน   เมื่อลูกเผลอตัวกล่าวคำรุนแรงอีก ให้เตือนด้วยน้ำเสียงราบเรียบ   ว่าถ้าไม่หยุด จะได้รับผลตามข้อตกลง   หากลูกหยุด ให้กล่าวคำขอบคุณ    อย่าดุด่าว่ากล่าว อย่าขึ้นเสียงหรือแสดงอารมณ์   การแสดงอารมณ์ออกมา จะเป็นสัญญาณไปยังลูก ว่าเขาชนะแล้ว    เมื่อลงโทษลูกตามข้อตกลง และลูกกระฟัดกระเฟียด อย่าสนใจ ให้นิ่งไว้    ลูกสาวคุณเป็นเด็กฉลาด เขาจะเรียนรู้ได้ในที่สุด”

    จะเห็นว่า พ่อแม่/ครู มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือฝึกฝนกล่อมเกลานิสัยเด็ก ให้เป็นคนที่เคารพให้เกียรติคนอื่น   และในขณะเดียวกัน ก็มั่นใจในเกียรติและความรับผิดชอบของตน

    พ่อแม่และครู มีโอกาสรับใช้สังคม โดยการเอาใจใส่ฝึกเด็กให้เป็นคนดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น

     

     

    วิจารณ์ พานิช

    ๘ เม.ย. ๕๖

     

     

    บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

    แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 11:57 น.
     


    หน้า 374 จาก 558
    Home

    About Us

    ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
    อ่านเพิ่มเติม

    มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

     iHDC Profile
    บัญชีรายชื่อกรรมการ
    ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
    เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
    เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
    เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
    iHDC นิติบุคคล.pdf
    iHDC บุคคล.pdf
    iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
    รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
    ข้อบังคับมูลนิธิ
    ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
    Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
    รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
    คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
    รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
    รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
    iHDC-invitation Letter.doc
    iHDC-Member Form Thai.doc
    iHDC-Member Form English.doc
    รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


    thaibetter
    พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

    Login


    แบบสำรวจ

    สถิติเว็บไซด์

    สมาชิก : 5609
    Content : 3052
    เว็บลิงก์ : 26
    จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8629441

    facebook

    Twitter


    บทความเก่า