Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คำนิยมหนังสือ บนเส้นทางเพาะพันธุ์ปัญญา

พิมพ์ PDF

คำนิยม

หนังสือ บนเส้นทางเพาะพันธุ์ปัญญา

 

วิจารณ์ พานิช

.................

 

หนังสือ บนเส้นทางเพาะพันธุ์ปัญญา เล่มนี้ มีลักษณะเป็นข้อเขียนเชิงสะท้อนความคิด   สื่อสารสาระที่มาจากใจ หรือจากการใคร่ครวญไตร่ตรอง สะท้อนความคิดจากการทำงานในโครงการ ของคน ๑๐ คน ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน   ในช่วงเวลา ๕ เดือนของการดำเนินการโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา    จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๖   โดยที่จริงๆ แล้ว โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ได้เริ่มมาแล้วกว่า ๑ ปี    จากระยะเวลาของโครงการทั้งหมด ๖ ปี

หนังสือเล่มนี้มี ๒ ตอน    ตอนแรกเขียนโดยหัวหน้าโครงการ ที่ถือกันว่าเป็น โค้ชใหญ่ ของโครงการ คือ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์    ตอนที่สอง ซึ่งมีไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ของหนังสือ เขียนโดย “พี่เลี้ยง” ในแต่ละศูนย์ ซึ่งมี ๘ ศูนย์    ซึ่งถือเป็น โค้ช ตัวจริงต่อครู    ฝึกให้ครูทำหน้าที่ โค้ช กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนอีกชั้นหนึ่ง

กระบวนการเรียนรู้ ของนักเรียน ตามโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา แตกต่างจากกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนตามปกติโดยสิ้นเชิง    จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเริ่มดำเนินการจริงๆ มีโรงเรียนและครูที่สมัครเข้าร่วมโครงการขอลาออกถึงหนึ่งในสาม

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ มีโรงเรียนและครูถึงสองในสาม ที่สมัครเข้าร่วมโครงการยังคงยืนหยัดอยู่กับการทดลองรูปแบบการเรียนรู้แบบ RBL ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา    ทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมของโรงเรียน ที่มาจากการบริหารแบบควบคุมและสั่งการจากส่วนกลาง คือ สพฐ. เป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ต่อการดำเนินการจัดการเรียนรู้แนวใหม่นี้

และที่น่าชื่นชมและภูมิใจตัวครูในโครงการคือ จิตวิญญาณที่จะฟันฝ่าเพื่อผลประโยชน์ของศิษย์    ที่จะช่วยโค้ชการเรียนรู้แบบใหม่ ให้ศิษย์คิดเป็น    เน้นที่การเรียนเพื่อฝึกการคิด มากกว่าเพื่อท่องจำเนื้อวิชา    ผมเรียกครูเหล่านี้ว่า “ครูเพื่อศิษย์”    เพื่อแยกแยะออกจาก “ครูเพื่อกู”

ผมรู้สึกเสียดาย ที่หนังสือนี้ไม่มีข้อเขียนสะท้อนความคิดจากครูสัก ๒ - ๓ คน    ว่าตนได้เผชิญความท้าทายและต้องฟันฝ่าอย่างไร    ในการทำงานเป็น “ครูฝึก” (โค้ช)   ไม่ใช่เป็น “ครูสอน” ตามปกติ    แต่ประเด็นดังกล่าวมีอยู่ในข้อเขียนทั้งของ ดร. สุธีระ และของหัวหน้าทีมพี่เลี้ยงอยู่แล้ว    ให้ผู้อ่านพอจะสัมผัสได้ว่า มีเสียงทั้งหัวเราะและน้ำตาของครู    โดยที่น้ำตานั้นอาจจะเกิดจากความยากลำบากเจ็บปวดก็ได้ เกิดจากปิติก็ได้

อ่านต้นฉบับแล้ว ผมตระหนักว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นโครงการ ที่อยู่ในสภาพประหนึ่งเข็นครกขึ้นภูเขา    ซึ่งหมายความว่า สภาพแวดล้อมต่างๆ ของโรงเรียน  เป็นไปเพื่อการสอนแบบเดิม คือเน้นสอนวิชา    เน้นการสนองคำสั่งต่างๆ จากเบื้องบน หรือจากผู้ต้องการดึงเด็กและครูไปประดับบารมี    ไม่ได้เน้นที่การเรียนรู้ของศิษย์เป็นเป้าหมายหลัก

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา หากได้ทำหน้าที่เป็นโครงการนำร่องภาคปฏิบัติ เพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของเด็กอย่างแท้จริง    เราก็พอจะสรุปได้จากข้อมูลในปีแรก (จาก ๖ ปี) ของโครงการ ได้แล้วว่า    ระบบการศึกษาของประเทศไทย ต้องปฏิรูปทั้งทักษะ (รวมทั้งเจตคติ และความรู้) ของครู    และปฏิรูประบบการบริหารการศึกษาในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ไปพร้อมๆ กัน    หากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริหารส่วนกลางให้ลดการควบคุมสั่งการ    โรงเรียนและครูจะไม่สามารถมีเวลาเอาใจใส่การเรียนรู้ของศิษย์ได้อย่างจริงจัง

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ “พื้นที่แห่งอิสรภาพ” หรือ “พื้นที่แห่งความปลอดภัย”    ที่จำเป็นยิ่งสำหรับการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่เรียกว่า “การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑”   ที่จะต้องเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้ แบบ “ไม่กลัวผิด”    ที่ผลสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือการผลิตพลเมืองที่ “คิดเป็น” “เรียนรู้เป็น” เป็นเป้าหมายหลัก    และมีพื้นความรู้สำหรับใช้ต่อยอดความรู้ใหม่ เป็นเป้าหมายรอง

ข้อความในหนังสือเล่มนี้ มีทั้งส่วนที่เป็นอุดมการณ์ หรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ของการศึกษา     และส่วนที่เป็นเทคนิค คือวิธีคิด วิธีโค้ช ปนๆ กันไป    และมีทั้งอารมณ์ลิงโลด และอารมณ์หดหู่ คละเคล้ากัน    ซึ่งผมคิดว่า ตรงกับความเป็นจริงของชีวิต ทั้งชีวิตการงาน และชีวิตส่วนตัว

แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ใด พื้นฐานของการมองโลก หรือเจตคติ คือ “วิธีคิดเชิงบวก” (positive thinking)   และ การคิดกระบวนระบบ (systems thinking) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    นำไปสู่การฝึกฝนวิธีคิด “จากผลไปหาเหตุ” (backward thinking, backward design) ที่ ดร. สุธีระย้ำนักย้ำหนา     โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ “คิดแบบไม่คิด” (intuition - ปัญญาญาณ)    คือทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ

หนังสือเล่มนี้ เป็นการจารึกการเดินทาง ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ในช่วงปีที่ ๑    ผมหวังว่า จะมีการจารึกการดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง    โดนเฉพาะอย่างยิ่งจารึกเหตุการณ์ที่รอยต่อ หรือการโค้ช ระหว่างครูกับศิษย์    และเนื่องจากการจารึกเป็นถ้อยคำมีข้อจำกัด    ผมจึงขอเสนอให้จารึกเป็นวีดิทัศน์    เลือกส่วนที่มีการเรียนรู้เข้มข้นมาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

ผมขอขอบคุณ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ที่ให้เกียรติผมเขียนคำนิยมนี้    ทำให้ผมได้เรียนรู้ข้อมูลความเป็นจริงในระบบการศึกษาไทย     ขอให้กำลังใจพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัย  และครูในโรงเรียน ที่กำลังมุ่งมั่นฟันฝ่าเพื่อดำเนินการโครงการนี้ให้บรรลุผลสำเร็จ    ผมเชื่อว่า ข้อเรียนรู้จากการทำงานในโครงการนี้ จะเป็นหน่ออ่อนของการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง ของไทย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 18 มีนาคม 2014 เวลา 06:55 น.
 

โพสพสะอื้น

พิมพ์ PDF

โพสพสะอื้น

รอคอยอย่างเข็ญใจ

นายกไทยอยู่ไหนกัน
หลบหนีทุกวี่วัน
ทนอยู่นั้นเพื่อสิ่งใด

ขึงโกรธโทษผู้อื่น
ทำสะอื้นเหมือนร้องไห้
หกแสนล้านบานตะไท
จะโทษใครมิให้ตังค์

มีไหมใจสำนึก
ในรู้สึกลึกรุงรัง
แก่นแกนอันเกรอะกรัง
ประดุจดังทุกด้านดำ

ศพแล้วก็ศพเล่า
เพราะข้าวเน่าเพราะใครนำ
กินแค่แต่ละคำ
ค้างคอค้ำทุกคำกลืน

ทุกข์ใจใบประทวน
แว่วโหยหวนครวญสะอื้น
อยากใส่ในกองฟืน
เพราะเต็มตื้นด้วยตีบตัน

หนี้เก่าเงาดอกเบี้ย
โหยละเหี่ยจนเหหัน
เพิ่มขึ้นทุกคืนวัน
คงจากกันไม่ทันลา

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2014 เวลา 15:40 น.
 

เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กกต.

พิมพ์ PDF
เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หรือเพื่อประโยชน์ของตนหรือพวกตน

เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กกต.

ข้อเสนอของ กกต. ให้ตกลงกันก่อนเลือกตั้ง ดูได้ ที่นี่ เป็นข้อเสนอที่น่าชื่นชมยิ่ง   แต่ฝ่ายรัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด ยังคงต้องการช่วงชิงการได้เปรียบ    เพื่อประโยชน์ของทักษิณ    ไม่มองประโยชน์ของประเทศ

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 15:20 น.
 

สู่การปฏิรูปที่ปฏิบัติได้จริง

พิมพ์ PDF
ไม่ต้องปฏิรูปทุกเรื่อง ทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็น

สู่การปฏิรูปที่ปฏิบัติได้จริง

สถาบันอนาคตไทยศึกษา เสนอรายงานบทวิเคาะห์และเสนอแนวทางการปฏิรูปในหัวข้อ สู่การปฏิรูปที่ปฏิบัติได้จริง

ท่านที่สนใจ อ่านได้ ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๓ มี.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 20:50 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๑. เรียนรู้เรื่อง Transformative Learning

พิมพ์ PDF
คุณหมอโกมาตรให้ความหมายว่า “กระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้ง ผ่านประสบการณ์ตรงที่สร้างสำนึกใหม่ และเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ ก่อให้เกิดความเข้าใจในตนเอง เข้าใจโลก และความสัมพันธ์ทางสังคม มีความตื่นรู้ มีสมดุลของชีวิต มีทักษะในการค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ สะท้อนย้อนคิด (reflection) มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสามารถสร้างทีมสุขภาวะเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข”

 

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพสุขภาพให้สอดคล้องกับ ความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย เมื่อวันที่ ๕ ก.พ. ๕๗   คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ทักท้วง ความหมายของคำว่า Transformative Learning ที่วงการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพใช้กันอยู่ในปัจจุบัน     ว่าหมายถึงการเรียนรู้สู่ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) นั้น ไม่ตรงกับนิยามสากล  ที่มีผู้พัฒนาขึ้นมาเป็นเวลา ๒๐ ปี

คุณหมอโกมาตรให้ความหมายว่า กระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้ง   ผ่านประสบการณ์ตรงที่สร้างสำนึกใหม่ และเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์   ก่อให้เกิดความเข้าใจในตนเอง เข้าใจโลก และความสัมพันธ์ทางสังคม    มีความตื่นรู้ มีสมดุลของชีวิต มีทักษะในการค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ สะท้อนย้อนคิด (reflection) มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ    เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสามารถสร้างทีมสุขภาวะเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข

โชคดีที่ผมบันทึกเสียงไว้ จึงได้นิยามของคำว่า Transformative Learning ตรงจากปากของนัก มานุษยวิทยาทางการแพทย์ คือคุณหมอโกมาตร    ที่ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงท่าทีพอใจ    ประธานคือคุณหมอสุวิทย์ บอกว่า น่าจะมีคนแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปให้ Julio Frenk ว่านิยาม Transformative Learning ของไทยเป็นอย่างนี้

ท่านเอ่ยชื่อ Merzirow    ผมจึงลองค้น กูเกิ้ล ด้วยคำว่า Transformative Learning ได้คำอธิบายใน วิกิพีเดีย ที่นี่ จะเห็นว่าคำว่า Transformative Learning หมายถึงการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน (Fundamental Change) ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 20:53 น.
 


หน้า 371 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8629271

facebook

Twitter


บทความเก่า